วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

งานอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติที่เวสาลี 2555


งานอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติที่เวสาลี 2555

                                                                                      ฉัตรสุมาลย์

            ทำไมที่เวสาลี อ้าวก็ภิกษุณีสงฆ์นั้นเริ่มต้นที่เวสาลีไง ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทจัดงานบรรพชาอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติที่เวสาลี
            ต้องขอบคุณภิกษุณี ดร.วิทิตาธรรมา (หลิวฟับ) ที่เป็นแม่งานจัดงานอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทครั้งแรกขึ้นที่ เวสาลี
            เราคุยกันนอกรอบ ถ้าจัดที่เวียดนาม ประเทศของท่านเอง แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีภิกษุณีสงฆ์มากที่สุดในโลก คือ 22000 รูป (ในขณะที่มีภิกษุสงฆ์เพียง 12000 รูป) แต่เพราะรัฐบาลเวียดนามเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ การจัดการไม่สะดวก
            ในที่สุด เราเห็นพ้องกันว่า ภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทจะไปจัดงานอุปสมบทที่อินเดีย ประเทศที่มีอิสรภาพทางความคิดสูง
            เมื่อพูดถึงงานบรรพชาอุปสมบท เราก็วางแผนกันว่า ใครจะเป็นอุปัชฌาย์ ทั้งทางฝ่ายภิกษุ และฝ่ายภิกษุณี
            ทางฝ่ายภิกษุณีนั้น เราต้องนิมนต์ภิกษุณีจากศรีลังกา ซึ่งไม่มีปัญหาอุปัชฌายา หรือปวัตตินีของท่านธัมมนันทายินดีมาให้พร้อมกรรมวาจาและอนุสาวนาจารย์ฝ่ายภิกษุณี
            ตกลงทางฝ่ายภิกษุณีเราได้จากศรีลังกา 3 รูป อินเดีย 2 รูป ท่านหลิวฟับจากเวียดนาม และท่านธัมมนันทาและท่านพูนศิริวราจากไทย รวมเป็น 8 รูป ตามเงื่อนไขพระวินัยอย่างต่ำต้อง 5 รูป ค่ะ
            ที่จริงมีภิกษุณีที่ไปร่วมงานอีกแต่อายุพรรษาน้อยกว่า 5 พรรษา อุปัชฌาย์เลยไม่นิมนต์



            ทางฝ่ายพระภิกษุนั้น ดั้งเดิมเราตั้งใจนิมนต์อุปัชฌาย์จากศรีลังกา มาพร้อมกับพระกรรมวาจาจารย์ และ    อนุสาวนาจารย์ ปรากฏว่า หลวงพ่ออัคคมหาบัณฑิตญานินทะ หลวงพ่อใหญ่ของพม่า ที่เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพม่าในพุทธคยา ท่านรับมาเป็นอุปัชฌาย์พร้อมทั้งคณะกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์
            เท่ากับเป็นการเปิดประตูให้ภิกษุณีเต็มที่
            ทางฝ่ายภิกษุสงฆ์นั้น เราได้รับความเมตตาจากพระสังฆราชของภิกษุสงฆ์ในอินเดีย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดลลีด้วย คือท่าน ดร.สัตยปาล ท่านเป็นเสียงสำคัญในการสนับสนุนการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ทั้งในอินเดีย และนานาชาติ ตกลงในการอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้
            ทางฝ่ายภิกษุสงฆ์จากพม่า อินเดีย บังกลาเทศ และประเทศไทย พระภิกษุจากประเทศไทยนั้น อายุพรรษา 36 พรรษา นั่งในลำดับหัวแถวถัดจากสังฆราชของอินเดีย เป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่ง



            การอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ ในช่วงครึ่งวันเช้าการะทำโดยฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ นับตั้งแต่นาคิณี นุ่งขาวรับศีล 5 จากอัชฌายา แล้วมารับการบรรพชาเป็นสามเณรีในคณะภิกษุณีสงฆ์ จากนั้น จึงเข้าสู่พิธีการอุปสมบท
            ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทครั้งนี้ 9 รูป ล้วนเป็นสามเณรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ถือสัญชาติไทย 2 รูป อินเดีย 3 รูป และเวียดนาม 4 รูป
            ท่านธัมมนันทาจัดผ้าจีวรไป 20 ผืน สังฆาฏิจากประเทศไทยไป 10 ผืน ทางเจ้าภาพก็มีผู้ถวายสังฆาฏิเช่นกัน ปรากฏว่า เมื่อทำการตรวจสอบสังฆาฏิที่ถวายมานั้นชั้นเดียว ทางอัชฌายายืนยันให้เป็น 2 ชั้น จึงได้ใช้สังฆาฏิที่ท่านธัมมนันทาจัดไปถูกต้องตามที่อุปัชฌายาเน้นเรียกว่าญาติโยมจากเมืองไทยได้โมทนากุศลเต็มที่
            ในการอุปสมบทนั้น จะให้การอุปสมบทครั้งละ 3 รูป ตามแบบเถรวาทของศรีลังกา ผู้ขอบวชต้องตอบคำถามอันตรายิกธรรม คือ สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคในการบวช พระภิกษุมี 13 ข้อ ของภิกษุณีมี 24 ข้อ การตอบคำถามนี้ จะกระทำ 2 ครั้ง คือตอบกรรมวาจาจารย์ ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งตอบต่อหน้าอัชฌายา และคณะภิกษุณีสงฆ์
            หลังจากนั้น กรรมวาจาจารย์จึงถามคณะสงฆ์ 3 ครั้ง เมื่อไม่ผู้ขัดข้องจึงสวดประกาศให้การยอมรับเข้าเป็นภิกษุณี
            เราต้องทำ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 รูป กว่าจะเสร็จพอดีเวลาฉันเพล
            หลังจากฉันเพลแล้วนัดเวลา บ่ายโมงตรงที่จะทำการอุปสมบทโดยสงฆ์ 2 ฝ่ายที่เรียกว่า อุภโตสงฆ์
            เมื่อหลวงพ่อใหญ่จากวัดพม่านำคณะภิกษุสงฆ์ทั้งหมด 15 รูปเข้านั่งประจำที่ที่ทางฝั่งขวาของพระพุทธรูปซึ่งถือเป็นองค์ประธานแล้ว ฝ่ายภิกษุณี 8 รูปทางฝั่งซ้ายของพระพุทธรูปภิกษุณีสงฆ์ที่สำเร็จการบวชโดยสงฆ์ฝ่ายเดียวในตอนเช้า เข้ามารับการอุปสมบทจากพระภิกษุสงฆ์



            เริ่มแรกโดยการที่ภิกษุณีที่ทำหน้าที่เป็นกรรมวาจาจารย์เป็นผู้สวดประกาศให้ทางภิกษุสงฆ์รับทราบว่า ภิกษุณีที่ขอบวชนั้นได้ผ่านการบวชโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว บัดนี้ ขอการบวชโดยภิกษุสงฆ์
            จากนั้นภิกษุผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ คือ ท่าน ดร.สัตยปาลพระสังฆราชของอินเดีย อีกรูปหนึ่งเป็นพระพม่า ทำการสวดประกาศแก่ภิกษุณีครั้งละ 3 รูปเช่นกัน
            เมื่อพิธีการอุปสมบทเสร็จสิ้นลง ทางฝ่ายภิกษุสงฆ์ มีการให้โอวาทแก่ภิกษุณีที่บวชใหม่ โดยพระอุปัชฌาย์มอบหมายให้พระสังฆราช ดร.สัตยปาลเป็นตัวแทนภิกษุสงฆ์ กล่าวให้โอวาท
            ท่านกล่าว่าท่านดีใจที่เห็นความงอกงามของภิกษุณีสงฆ์การบวชครั้งนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะท้าทายการบวชครั้งนี้ได้ เพราะเป็นงานประวัติศาสตร์ภิกษุณีให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ การบวชครั้งนี้เป็นการจารึกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ ในการที่ภิกษุณีก้าวออกมาเช่นนี้ มีนัยยะสำคัญว่าพร้อมที่จะมีความรับผิดชอบที่จะรักษาพระธรรมและรักษาพระสงฆ์ ไม่ควรทำอะไรให้เสียชื่อเสียง รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ กิริยามารยาทที่แสดงออกในสังคมให้ทำด้วยความเหมาะสม ทำตัวประดุจทหารที่รักษาชายแดนของประเทศที่ต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอ จะต้องรักษาพระศาสนาดุจเดียวกับทหารที่รักษาเอกราชของประเทศชาติ
            เมื่อท่านกล่าวจบก็มาถึงฝั่งของภิกษุณี ท่านสัทธาสุมนา ผู้เป็นอุปัชฌายาจอให้ท่านธัมมนันทาจากประเทศไทยเป็นตัวแทนของภิกษุณีสงฆ์กล่าวให้โอวาทแก่ภิกษุณีบวชใหม่
            ท่านธัมมนันทากราบแสดงความเคารพต่อมหาสังฆะ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ท่านกล่าวความปลื้มปีติและประทับใจในการที่มีการอุปสมบทภิกษุณีครั้งนี้  กล่าวขอบคุณในความเมตตาของฝ่ายภิกษุสงฆ์ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุสงฆ์ผู้เป็นพี่ และภิกษุณีสงฆ์ผู้เป็นน้อง เพราะเข้ามาสู่คณะสงฆ์ทีหลัง
            ท่านเตือนภิกษุณีบวชใหม่ให้ระลึกถึงความรับผิดชอบ มิใช่เข้ามาแล้วจะมาเรียกร้องการยอมรับเพราะการยอมรับจะตามมาหลังจากภิกษุณีสงฆ์เองเป็นพระสุปฏิปันโน
            การเข้ามาบวช แท้จริงแล้ว คือการตั้งใจมั่นในการเข้ามาคลายทุกข์ในส่วนของตนและสังคม การทำงานร่วมกันระหว่างสงฆ์ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง ที่จะรักษาความมั่นคงของพระศาสนาไว้ได้ในที่สุด
            หลังจากนั้น คณะสงฆ์ทั้งสองฝ่ายร่วมกันสวดกรณียเมตตสูตรให้พระภิกษุณีบวชใหม่


             จากนั้น เราได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ร่วมกันถ่ายรูปหมู่ร่วมกับภิกษุรีที่บวชใหม่ครั้งนี้
            แล้วจึงส่งพระผู้ใหญ่กลับ แต่ท่าน ดร.สัตยปาลยังกรุณาอยู่ต่ออีก 3 วัน เพื่อช่วยอรรมภิกษุณีและสามเณรีที่เข้ารับการอบรมตลอดพรรษา
            เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อบวชไปแล้ว มีองค์ความรู้และการอบรมที่จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนเป็นพระเณรที่ดีมีคุณภาพต่อไป
           สามเณรีที่บวชครั้งนี้ มี 13 รูปก็เข้ารับการศึกษาอบรมไปพร้อม ๆ กัน อย่างเดียวที่ภิกษุณีแยกไปทำ คือ เรื่องของการสวดปาฏิโมกข์
      เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมต่างภาษากัน จึงต้องมีการแบ่งกลุ่มเป็นสามกลุ่มตามการใช้ภาษากล่าวคือ ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย และภาษาฮินดี
           พระภิกษุและภิกษุณีที่มาร่วมในการบวชต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกลับประเทศ กลับวัดของตนเพราะต้องเข้าพรรษาวันที่ 3 สิงหาคม
            ปีนี้จะเป็นปีที่เวสาลีมีพลังพิเศษจากการที่มีภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทเข้าพรรษาที่นั่น


ฉัตรสุมาลย์.  (ปีที่ 32 : กันยายน 21-27).  “งานอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติที่เวสาลี 2555.
            มติชนสุดสัปดาห์.  ฉ. 1675 : 65.








ไม่มีความคิดเห็น: