วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เยือนลุ่มนำป่าสัก ไทยยวน-ไทยเบิ้ง


มีคำกล่าวที่น่าฟังประการหนึ่งว่า วัฒนธรรมที่เรียกว่าไทยนั้นเกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะพื้นที่บริเวณสุวรรณภูมิเป็นแหล่งที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นเส้นทางผ่านของพ่อค้า นักเผชิญโชค และนักเดินทางทั่วไป 

ดังนั้นในพื้นที่ที่หนึ่ง จึงอาจจะพบการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้โดยง่าย และไม่แปลกอันใดที่จะเกิดการยอมรับวัฒนธรรมในที่ใดที่หนึ่ง หรือเกิดการกลมกลืนวัฒนธรรมขึ้น

บริเวณภาคกลางของประเทศไทยแถบลุ่มน้ำป่าสักที่ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ของการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในบางตำบลของ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่เรียกว่ากลุ่มไทยยวน และกลุ่มไทยเบิ้งที่อยู่ในเขต จ.ลพบุรี ทั้ง 2 ชุมชนนี้กลับมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นของตน และสามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน

ชาวไทยยวน ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ก็คือชาว ล้านนา หรือโยนก ที่ปัจจุบันคือบริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในการศึกษาประวัติของชุมชนพบว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ราว พ.ศ.2347 เกิดสงครามขึ้น กองทัพหลวงจากพระนครยกทัพขึ้นไปปราบศึก และเทครัวชาวเชียง แสนลงมายังกรุงเทพฯ ให้ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองที่เดินทางผ่าน หนึ่งในนั้นก็คือ ที่บริเวณบ้านเสาไห้ จ.สระบุรี

ชาวไทยยวนตั้งหมู่บ้านโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง และสร้างบ้านเรือนรอบๆ วัด ลักษณะบ้านเป็นทั้งแบบล้านนา คือมีกาแล และแบบบ้านเรือนไทยภาคกลาง 

ส่วนภาษานั้นมีการใช้อักษรธรรมเช่นเดียวกับที่ชาวล้านนาใช้ มีหลักฐานน่าสนใจชิ้นหนึ่ง คือกฎหมายมังรายศาสตร์ ที่ลอกขึ้นเมื่อพ.ศ.2343 อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยยวนอพยพลงมาที่เสาไห้นี้ 

ส่วนภาษาพูดเป็นสำเนียงล้านนา และประเพณีปฏิบัติก็ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมของตน เช่น การถวายปราสาทผึ้ง ประเพณีสลากภัต 

ผู้สนใจวิถีชีวิตไทยยวน ไม่ควรพลาดที่จะไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสมุหประดิษฐาราม ที่บอกเล่าวิถีชีวิต ประเพณี ผู้คน บ้านเรือน การแต่งกาย ทรงผม ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี

เลยขึ้นไปจาก อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ในลุ่มน้ำเดียวกัน เป็นที่ตั้งของชุมชนไทยเบิ้ง ซึ่งก็มีเอกลักษณ์ของตน ทั้งการแต่งกาย ภาษาพูด เสื้อผ้า ทรงผม บ้านเรือน 

ชาวไทยเบิ้งเป็นกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนกลาง บริเวณ อ.พัฒนา นิคม อ.ชัยบาดาล อ.ท่าหลวง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี อ.วังม่วง จ.สระบุรี อ.ศรีเทพ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และในบริเวณภาคตะวันออก เฉียงเหนือเช่นที่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ และจ.บุรีรัมย์

ชาวไทยเบิ้ง หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ไทยโคราช หรือ ไทยเติ้ง หรือ ไทยเดิ้ง เป็นกลุ่มผู้พูดภาษาไทยภาคกลาง แต่มีสำเนียงเหน่อเหมือนคนภาคอีสานอยู่บ้าง มีคำภาษาไทยลาวปะปนในภาษาพูดและภาษาเขียน และเนื่องจากในภาษาพูดของชาวไทยกลุ่มนี้มักลงท้ายคำด้วยคำว่า เบิ้ง เช่น ขอไปเบิ้ง คือขอไปด้วย ทำให้เรียกชาวไทยกลุ่มนี้ว่าไทยเบิ้ง

ชาวไทยเบิ้งน่าจะเข้ามาตั้งถิ่น ฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรี- ป่าสัก กับบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วิถีชีวิตทั่วไปคนของไทยเบิ้งเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตร กรรมเป็นหลัก เวลาว่างนิยมทอผ้าฝ้าย ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คือเป็นลายตารางสี่เหลี่ยม ผู้สูงอายุยังนิยมนุ่งโจงกระเบน และสะพายย่ามรูปแบบเฉพาะที่มีสีสันสวยงาม 

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างเรือนเสาสูงแบบเรือนไทย มีหน้าต่างประตูขนาดเล็ก บางครั้งสลักอกเลาที่ประตูเป็นลวดลายต่างๆ ฝาเรือนคือฝาฟาก ฝาค้อ โดยต้นค้อเป็นพืชพื้นถิ่นชนิดหนึ่งบริเวณลุ่มน้ำป่าสักที่นำมากรุเป็นฝาเรือน

ชุมชนไทยเบิ้งนับถือพุทธศาสนา มีประเพณีทางพุทธศาสนาตลอดทั้งปี ส่วนการละเล่นเพื่อความบันเทิงนั้น มีเพลงพื้นบ้านประกอบเครื่องดนตรี เช่น เพี้ย หรือจิ้งหน่อง ปี่ โทน และกลองยาว เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงปฏิพากย์โต้ตอบกัน ที่นิยมมากคือเพลงโคราช ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนได้เป็นอย่างดี 

ทั้งไทยยวน และไทยเบิ้ง ต่างก็เป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถในการรักษา และถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ไม่ล้าสมัยให้แก่ลูกหลาน อันปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

สนใจร่วมเดินทางสัมผัสวัฒนธรรมไทยยวน-ไทยเบิ้ง เยือนเมืองโบราณลุ่มน้ำป่าสัก "ศรีเทพ-ซับจำปา" กับวิทยากรนำทัวร์พิเศษสุด อาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ สำรองที่นั่งและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2954-3977-84 ต่อ 2114, 2115, 2123, และ 2124 หรือ 08-2993-9097, 08-2993-9105 และ www.matichonacademy.com



ที่มา :
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMGIzVXdNVEF6TVRFMU5RPT0=&sectionid=TURNeE9RPT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB3TXc9PQ==


ไม่มีความคิดเห็น: