วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

นิกายเถรวาท


นิกายเถรวาท

           นิกายเถรวาทหรือสํสกฤตเรียกว่า “สถวีรวาท” นี้ นับว่าเป็นนิกายที่สามารถรักษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บริสุทธิ์บริบูรณ์กว่านิกายอื่น ๆ และเป็นนิกายซึ่งเคารพต่อมติของพระอรหันตเจ้าทั้งหลายในครั้งปฐมสังคายนาจึงเป็นนิกายซึ่งสืบเนื่องมาแต่บรรดาพระเถรานุเถระครั้งกระโน้นโดยตรง ฉะนั้นจึงเรียกว่า “เถรวาท” นิกายน้ได้รุ่งโรจน์อยู่ในภาคกลางของอินเดียภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู และจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นับเป็นเวลากว่า 100 ปีถึงแม้ว่าในพุทธศตวรรษที่ 1 จะเกิดการแตกนิกายขึ้น และนิกายเถรวาทจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเบื้องแรก แต่ในที่สุดก็กลับเป็นฝ่ายชนะเรียกเอาความเลื่อมใสศรัทธาจากพระเจ้ากาฬาโศกแห่งสุสูนาควงศ์ ซึ่งครองมคธในยุคนั้นกลับคืนได้ เมื่อถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์แห่งพระจักรพรรดิอโศก และความสามารถของพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ นิกายนี้จึงได้แพร่หลายออกไปโดยกว้างขวางทั่วชมพูทวีปและนานาประเทศนอกอาณาเขตมัธยมประเทศ แต่เป็นที่น่าประหลาด นับตั้งแต่พันพุทธศตวรรษที่ 3 แล้ว นิกายเถรวาทแม้จะยังมีอยู่ประปรายในอินเดียเราก็ไม่อาจทราบความเป็นได้โดยละเอียด ตรงกันข้ามกับเกาะสิงหฬ หรือประเทศลังกาในปัจจุบันนี้ กลับเป็นอู่แห่งความเจริญพัฒนาของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทตลอดระยะกาล 2000 ปี เศษ ตามตำนานเล่าว่า พระโสณะและอุตตระพร้อมกับบริวารพานิกายเถรวาทไปเผยแผ่ในสุวรรณภูมิ ปัจจุบันได้แก่บริเวณแถวพม่าได้จนถึงภาคึกลางประเทศไทย มีศูนย์กลางที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือแถบจังหวัดนครปฐมเดี่ยวนี้ ส่วนสุวรรณภูมิเป็นประเทศซึ่งชาวอินเดียแต่ครั้งก่อนพุทธกลารู้จักดี ปรากฏว่ามีการค้าขายติดต่อกัน และมีชาวอินเดียทั้งที่เป็นชาติอารยัน และชาวอินเดียที่เป็นชาติดราวิเดียนอพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่บ้างแล้ว เพราะฉะนั้นพระโสณะและพระอุตตระจึงสะดวกในการสั่งสอนพระพุทธศาสนา ได้เทศนาพรหมชาลสูตรโปรดพวกชาวสุวรรณภูมิ มีคนบรรลุมรรคผลถึง 60000 คน แต่รายละเอียดต่อไปจะมีอย่างไรในตำนานหากล่าวถึงไม่ ส่วนทางประเทศลังกาปรากฏว่าในปี พ.ศ. 236 เป็นปีที่กษัตริย์ลังกาผู้ครองเมืองอนุราชปุระองค์ใหม่ทรงพระนามว่าเทวานัมปิยติสสะขึ้นเสวยราชย์ พระมหินทร์นำคณะธรรมทูตไปเผยแผ่พระศาสนาในลังกา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงศรัทธาประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก โปรดให้อุปสมบทบุคคลและก่อสร้างวิหารเจดีย์ มีวัด มหาวิหาร เจติยคีรีวิหาร ถูปาราม เป็นต้น และโปรดให้ราชทูตไปทูลพระเจ้าอโศกขอคณะภิกษุณีเพื่อมาอุปสมบทแก่หญิงชาวลังกาตลอดจนทูลขอกิ่งมหาโพธิเพื่อสักการบูชาด้วย พระเจ้าอโศกทรงสนับสนุนส่งพระธิดาซึ่งเป็นภิกษุณี ทรงนามว่าสังฆมิตตาเถรีพร้อมด้วยบริวาร และให้อัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิมาประทาน ปรากฏว่าน้องสะใภ้ของพระเจ้าเทวานัมปิติสสะทรงนามว่า พระอนุฬาเทวี ออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีพร้อมด้วยบริวารอีก 1000 คน เป็นครั้งปฐมในลังกา ส่วนกิ่งมหาโพธิโปรดให้ปลูกขึ้นในมหาเมฆวันอุทยาน ว่ากันว่ายังมีเชื้อสายปรากฏอยู่จนถึงกาลปัจจุบันนี้ ต่อมาเมื่อการศึกษาพระธรรมวินัยแพร่หลายในหมู่สงฆ์ชาวลังกาแล้ว พระมหินทร์ก็ทูลขอให้พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นราชูปถัมภ์ ชุมนุมสงฆ์ในลังกาจัดทำสังคายนาขึ้น ณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ ว่ามีพระอรหันต์ร่วมประชุมถึง 68000 องค์ ทำอยู่ 10 เดือนจึงสำเร็จ นับตั้งแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ มีคันถรจนาจารย์แต่งคัมภีร์  อรรถกถาฎีกาอธิบายพระไตรปิฎกเป็นภาษาลังกา เพื่อศึกษาแพร่หลายเป็นหลักฐานยิ่งกว่าในประเทศอินเดีย ซึ่งนับวันนิกายเถรวาทจะหมดรัศมีลงไปเรื่อย ๆ

           ครั้นตก พ.ศ. 429 ในแผ่นดินพระเจ้าวัฏฏคามินีเกิดอริราชศัตรูต่างด้าว คือพวกทมิฬยกมาจากภาคใต้ของอินเดีย ข้ามทะเลมาตีนครอนุราธปุระแตก พระเจ้าวัฏฏคามินีหลบหนีข้าศึกไปซ่องสุมรี้พลในชนบท ระหว่างนั้นได้รับอุปการะเสบียงกรังจากพระมหาเถระรูปหนึ่ง ชื่อติสสะ ภายหลังทรงรบชนะพวกทมิฬ กลับได้ครองเมืองอนุราชปุระแล้ว ทรงรำลึกถึงพระคุณของพระติสสมหาเถระ จึงโปรดให้สร้างวัดชื่อ อภัยคีรีวิหาร ให้พระติสสะมหาเถระและบริวารอาศัย ต่อมาคณะสงฆ์ฝ่าย มหาวิหาร ไม่พอใจในปฏิปทาของฝ่ายอภัยคีรีวิหาร โดยกล่าวว่าเป็นพวกประจบคฤหัสถ์ จึงแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ถึงกลับไม่ไปมาหาสู่กัน แต่ไม่ถึงแยกเป็นนิกายออกโดยโจ่งแจ้ง เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าวัฏฏคามินีและคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ปรารภความแตกร้าวอันนี้ จึงชุมนุมสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้น ณ มหาวิหาร มีพระพุทธทัตตะ (เห็นจะเป็นพระมหาเถระฝ่ายมหาวิหาร) เป็นประธาน พระติสสมหาเถระคณาจารย์ใหญ่อภัยคีรีวิหารเป็นผู้วิสัชนาพระธรรมวินัย มีจำนวนพระเถระที่เข้าประชุม 1000 รูป ทำ 1 ปีจึงสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.433 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์สังคายนาครั้งนั้นว่า “ตั้งแต่ พ.ศ. 440-454 นี้ เป็นเวลาที่พระเจ้าวัฏฏคามินียังกำลังหลบหนีพวกทมิฬอยู่ ในหนังสือสยามูปสัมปทาวัตรว่า พระสงฆ์ทำสังคายนาครั้งนี้ ทำที่อลุวิหารในเมืองมาตุละ แลว่าผู้ที่อุดหนุนนั้นจะเป็นนายบ้านหรือพ่อเมืองอะไรคนหนึ่ง ซึ่งได้มีอำนาจปกครองอยู่แขวงเมืองมาตุละนั้น มิใช่พระเจ้าวัฏฏคามินี อีกประการหนึ่ง อภัยคีรีวิหารในเวลานั้นยังไม่ได้สร้าง จึงเห็นว่าความที่กล่าวในตำนานสังคายนาผิด ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าในเรื่องสังคายนาครั้งที่ 2 ในลังกาทวีปนี้ ที่ปรากฏว่าทำในหัวเมืองในเวลาบ้านเมืองยุคเข็ญเห็นจะเป็นความจริง ด้วยสมกับเหตุที่ปรารภ ส่วนพระสงฆ์ที่ทำสังคายนานั้นอาจจะมีคณาจารย์ที่เป็นใหญ่ในอนุราชบุรีมาสมทบด้วยบ้าง แต่โดยมากคงจะเป็นพระหัวเมือง

           อย่างไรก็ดี สังคายนาครั้งนั้นมีผลก่อให้เกิดการจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก เพื่อป้องกันความวิปลาสคลาดเคลื่อน จึงนับว่าเป็นพระไตรปิฎกฉบับเขียนฉบับแรกของฝ่ายเถรวาท ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ 9 ในแผ่นดินพระเจ้ามหานาม มีพระคณาจารย์ผู้แตกฉานพระไตรปิฎกรูปหนึ่ง ชื่อ พระพุทธโฆษะ เป็นชาวมคธจาริกข้ามทะเลมาประเทศลังกา ประสงค์จะแปลพระไตรปิฎกและบรรดาอรรกถา ซึ่งเป็นภาษาสิงหฬกลับสู่มคธพากย์ สันนิษฐานว่า พระไตรปิฎกคงจะเขียนด้วยตัวอักขระสิงหฬ แต่เป็นภาษาบาลี ส่วนอรรถกถาฎีกาคงจะแต่งในภาษาสิงหฬล้วนพระพุทธโฆษะมุ่งจะแปลจะถ่ายทอดอรรกถาเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะปรากฏว่าในประเทศอินเดียมีแคว้นมคธเป็นต้น แม้ลัทธิพระศาสนาแบบเถรวาทจะตกอับ สู้นิกายมหาสังฆิกะ นิกายสรวาสติวาทิน และนิกายเสาตฺตนฺติกวาทินตลอดจนนิกายวัชชีบุตรมิได้ ถึงกระนั้นพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทก็ยังจะต้องมีอยู่ให้กุลบุตรศึกษาเล่าเรียน มิฉะนั้นพระพุทธโฆษะท่านไปเที่ยวร่ำเรียนพระธรรมวินัย จนกระทั่งปรากฏเกียรตินามว่าเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในแคว้นมคธได้อย่างไร อนึ่ง ณ เมืองกาญจิปุระซึ่งตั้งอยู่ทางอินเดียภาคใต้ ปรากฏว่าเป็นเมืองที่นิกายเถรวาทยังรุ่งเรืองอยู่ มีการศึกษาพระปริยัติธรรมของนิกายนี้โดยกว้างขวาง แต่หลักพระไตรปิฎกคงต้องอาศัยฉบับของลังกาเป็นหลักฐาน พระพุทธโฆษะเมื่อเดินทางมาถึงลังกาแล้ว จึงได้ร่วมมือกับพระเถระชาวลังกาชำระพระไตรปิฎก และอรรถกถาใหม่อีกวาระหนึ่ง สงเคราะห์เรียกว่าสังคายนาเหมือนกัน สังคายนาครั้งนั้นปรากฏว่าพระพุทธโฆษะ และพระเถระลังกาได้ช่วยกันแต่งรวบรวมปกรณ์วิเศษต่าง ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมากและแปลอรรถกถาภาษาสิงหฬสู่ภาษาบาลี และได้เผาคัมภีร์ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ตรงกับหลักธรรมในคติของฝ่ายเถรวาทเสียเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าคงจะเป็นคัมภีร์ของนิกายอื่น ๆ พระไตรปิฎกอรรถกถาที่สังคายนาครั้งนั้นจึงถือเป็นยุติ รับรองกันว่าเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ต่อมาจึงแพร่หลายทั่วไปในนานาประเทศที่นับถือนิกายเถรวาทตรงกันหมด จะมีผิดเพี้ยนบ้างก็เป็นความเล็กน้อยตามวิสัย อย่างไรก็ดี สังคายนาครั้งพระพุทธโฆษะดูเหมือนจะทำกันเป็นการเฉพาะในคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร และพระพุทธโฆษะเองก็นับถือคติของฝ่ายมหาวิหารเป็นสำคัญ แม้จนกระทั่งในปกรณ์ต่าง ๆ ที่พวกคณาจารย์แต่งก็มักมีประกาศไว้ให้ผู้ศึกษาทราบว่า แต่งตามมติของฝ่ายมหาวิหาร ดังจะยกคำแปลในปณาคาถา และคำปรารภของพระพุทธโฆษะในคัมภีร์สมันตปาสาทิกาเป็นนิทรรศนะดังนี้ ที่จริงพระวินัยนี้ อันท่านบุพพาจารย์ผู้ประเสริฐทั้งหลายผู้มีมลทิน และอาสวะอันชำระล้างแล้วด้วยน้ำคือญาณ ผู้มีวิชชาและปฏิสัมภิทาอันบริสุทธิ์ ผู้ฉลาดในการสังวรรณนา พระสัทธรรมแล้วด้วยนัยทั้งหลายอันวิจิตร อันเป็นไปตามนัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้จริง และในวิสุทธิมรรคปกรณ์ตอนปกรณาวสานคาถาว่า ข้าพเจ้าจักแสดงซึ่งวิสุทธิมรรคอันอาศัยนัยเทศนาของบรรดาพระมหาเถระสำนักมหาวิหารเป็นที่วินิจฉัย ซึ่งหมดจดด้วยดี

ที่มา :
เสถียร โพธินันทะ.  (2554).  ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊กส์

 
 

ไม่มีความคิดเห็น: