วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รถยนต์อาการน่าเป็นห่วง? 7 เทคนิคสังเกตอาการเบื้องต้น ก่อนจะมีปัญหาตามมา



สัญญาณอันตรายบ่งบอกว่ารถยนต์ของคุณกำลังมีปัญหาตามมามักมีหลายอาการ แต่อาการที่เห็นกันบ่อยๆ และจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอันใกล้มีไม่กี่เรื่อง ยานยนต์ “มติชน” หยิบยกมาให้คอยสังเกตก่อนจะสายเกินแก้ ดังนี้

1.ก่อนออกรถควรสังเกตร่องรอยน้ำมัน เพราะหากจอดรถแล้วพบรอยน้ำมันหยดเป็นทางหรือเป็นจุด อย่าวางใจเด็ดขาด เพราะตามปกติแล้วน้ำมันจะไม่สามารถหยดได้เอง นอกจากเกิดความเสียหายต่อระบบนั้นๆ หมายถึงต้องมีอะไรผิดปกติแล้ว ดังนั้นถ้าพบข้อนี้รีบตรวจสอบด่วน

2.สตาร์ตเครื่องนานกว่าปกติ ทันทีที่เราขึ้นรถแล้วบิดกุญแจ เสียงสตาร์ตสามารถบ่งบอกสารทุกข์สุกดิบของรถได้ดี เพราะโดยปกติการสตาร์ตเครื่องยนต์จะใช้การถีบตัวไม่เกิน 3 ครั้ง ใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที และส่วนใหญ่จะครั้งเดียวติด หรือถ้านานกว่านั้นแสดงว่ารถเริ่มมีปัญหา อาจเกิดจากแบตเตอรี่เริ่มเสื่อมสภาพ เตรียมเงินถอยแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย

3.ควันขาวออกท่อ หรือยิ่งถ้ามีกลิ่นฉุนด้วยแล้ว แสดงว่าต้องมีสิ่งผิดปกติกับระบบเครื่องยนต์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นกับความหนักเบาของอาการ จึงควรรีบไปหาช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจอาการให้ชัดเจน

4.เสียงผิดปกติ แม้จะเป็นเรื่องยากในการสังเกตสำหรับใครบางคน แต่ในระหว่างขับรถคุณสามารถสังเกตได้ เมื่อรถจอดหรือเดินเบาเครื่องยนต์ก่อนขับออกถนน โดยทั่วไปแล้วการทำงานของเครื่องยนต์จะไม่มีเสียงผิดแปลก โดยเฉพาะเสียงเหล็กกระทบกัน หรือเสียงน็อก หากไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วเพิ่งได้ยิน อย่าปล่อยไว้ ควรรีบไปหาผู้เชี่ยวชาญทันที

5.เมื่อขับรถแล้วรู้สึกว่านุ่มนวลผิดปกติ มีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1.ลมยางอ่อน บางครั้งอาจจะหมายถึงยางรั่ว 2.ระบบช่วงล่างบางชิ้นเสื่อมสภาพ ส่วนใหญ่คือสปริงหรือโช้ก

6.เกิดเสียงดังจี๊ดๆ ตอนเบรก อาจจะด้านหน้าหรือด้านหลัง หมายถึงผ้าเบรกกำลังหมดอายุการใช้งาน ถ้าได้ยินแล้วอย่ารอช้า รีบหาเวลาไปเปลี่ยนผ้าเบรก ก่อนจะทำความเสียหายต่อชุดจานเบรก

7.รถเร่งแล้วอืดกว่าเดิม ถ้าเมื่อไหร่เร่งแล้วรู้สึกว่าไม่พุ่งเหมือนเดิม แต่ไม่มีความผิดปกติอย่างอื่น เช่น รอยน้ำมัน นั่นหมายถึงอาจจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแล้ว แต่หากถ่ายมาแล้วและยังวิ่งอืดอยู่ อาจเกิดจาก 2 กรณี คือ 1.กรองน้ำมันเชื้อเพลิง และ 2.กรองอากาศ อาการรถมีอัตราเร่งถดถอยลักษณะนี้ จะมีผลโดยตรงต่ออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
counter

ที่มา :
http://www.matichon.co.th/news/264688

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด




วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด

และวิธีทำบัญชี


          การรับและการเก็บรักษาเงินของวัดและการทำบัญชี เป็นงานการศาสนสมบัติของวัดงานหนึ่ง  ซึ่งอยู่ในความดูแลและจัดการของเจ้าอาวาส  ในกฎกระทรวงข้อ ๕-๖ ได้ระบุไว้โดยชัดเจน  จึงขอเรียนวิธีปฏิบัติเป็น  ๓ วิธี  คือ
                   ๑.  วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด
                   ๒.  วิธีทำบัญชีรับจ่าย
                   ๓.  วิธีทำบัญชีงบปีของวัด
            วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด
                   ก.  วิธีรับเงินของวัด  การรับเงินผลประโยชน์ไม่ว่ากรณีใด ๆ วัดจะต้องออกใบเสร็จรับเงิน (ศบว.๗) แสดงการรับทุกครั้ง แล้วจึงนำยอดเงินตามใบเสร็จนั้นเข้าบัญชีรับและลงเลขที่ใบเสร็จไว้ในบัญชีรับอีกครั้ง แม้การรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเข้าบัญชีรับ ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน สำหรับอนุโมทนาบัตรจะมีหรือไม่ก็ได้
          ส่วนการรับเงินการกุศล ควรออกอนุโมทนาบัตรแล้วลงบัญชีรับและอ้างเลขที่อนุโมทนาบัตรในบัญชีรับอีกครั้งหนึ่ง
                   ข. วิธีเก็บรักษาเงินของวัด วัดจะเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ของวัดเองได้เพียง ๓,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ให้นำฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ ธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทางปฏิบัตินั้น ควรฝากธนาคารโดยระบุชื่อบัญชีว่า “วัด......................”  หรือว่า “เงินของวัด............................”  อย่าฝากเป็นชื่อเจ้าอาวาสหรือใคร ๆ การเบิกเงินจากธนาคาร ควรกำหนดเงื่อนไขให้ลงนามร่วมกัน ๓ คน คือ เจ้าอาวาส ๑ ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ ๑ ผู้ที่เจ้าอาวาสเห็นควร ๑ จึงถอนได้   หรือเมื่อฝากลงนามร่วมกัน ๓ คน  เมื่อจะถอนลงนาม ๒ ใน ๓  มีเจ้าอาวาสเป็นหลัก
          ส่วนเงินการกุศล ให้เก็บรักษาตามความประสงค์ของผู้บริจาค  ถ้าผู้บริจาคมิได้แจ้งความประสงค์ไว้  ควรอนุโลมตามการเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ของวัด
          วิธีทำบัญชีรับจ่าย   ให้เจ้าอาวาสมอบให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัด จัดทำบัญชีรับจ่ายประจำเดือน โดยใช้แบบกรมการศาสนา (ศบว.๕)  ทุกเมื่อสิ้นเดือน ให้รวบรวมยอดรับจ่ายหักยอดคงเหลือและยอดยกไปเดือนต่อไป  ผู้ทำบัญชีลงนามรับ รองแล้ว เสนอเจ้าอาวาสตรวจ และควรให้ตรวจทุกเดือน
          วัดใหญ่ ๆ มีรายรับรายจ่ายมาก     อาจมีบัญชีรับจ่ายหลายเล่มตามประเภทแห่งงาน หรืออาจใช้บัญชีรับจ่ายแบบทั่วไป เพื่อให้ความสะดวกในการจัดทำบัญชีก็ได้
          วิธีทำบัญชีงบปี  เจ้าอาวาสต้องตั้งให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัด  จัด ทำบัญชีงบมีตามแบบ ศบว.๖  ตัดยอดวันที่ ๓๑ ธันวาคม  โดยปฏิบัติดังนี้
                   (๑)  แยกรายรับทั้งปีออกเป็นประเภท เช่น  ยอดเงินยกมาจากปีเก่า,เงินค่าเช่า,เงินค่าบำรุง,เงินค่าดอกเบี้ย,เงินการกุศลต่าง ๆ และรายรับอื่น ๆ แต่ละประเภทเป็นเงินเท่าใดและรวมทุกประเภทเป็นเงินเท่าใด
                   (๒)  แยกรายจ่ายทั้งปีออกเป็นประเภท  เช่น  ค่าก่อสร้างและบูรณะ,ค่า ตอบแทน,ค่าภาษี,ค่าน้ำปะปา-ไฟฟ้า-โทรศัพท์, ค่าคนงานวัด และรายจ่ายอื่น ๆ แต่ละ ประเภทเป็นเงินเท่าใด และรวมทุกประเภทเป็นเงินเท่าใด
                   (๓)  เมื่อหักแล้ว  คงเหลือเงินเท่าใด
                   (๔)  เงินที่เหลือ เป็นเงินสดเท่าใด ฝากธนาคารไหน เท่าใด
          เมื่อจัดลงรายการในบัญชีงบปีเรียบร้อยแล้ว  ให้ผู้จัดทำบัญชีลงนามรับรอง  แล้วเสนอเจ้าอาวาสลงนาม และเก็บไว้ให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา :  
http://www.watmoli.com/vittaya-2-chapter-6/section-9/part-5.html

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คุณสมบัติเจ้าอาวาส





สมภารเจ้าวัด : คุณสมบัติ
 ดังได้ปรารภในหัวข้อก่อนแล้วว่า สมภารเจ้าวัดในสมัยพุทธกาลและสมัยโบราณนั้นยังไม่ชัดเจน ไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับสมภารเจ้าวัดในยุคสมัยนี้ ซึ่งการจะทำความเข้าใจในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนให้ชัดเจนได้นั้นก็ต้องอาศัยจินตนาการประกอบกับหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ เมื่อจินตนาการถึงยุคโน้นสมัยโน้น ก็มีเรื่องที่รู้กันว่าในพุทธกาลสมัยนั้น แรกเริ่มเดิมทียังไม่มีวัด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ก็อาศัยตามป่าตามไร่ตามสวนที่รกร้างว่างเปล่า บางครั้งก็อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือตามบ้านร้างที่เรียกว่าเรือนว่าง เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ยังมีจำนวนน้อย หลังจากออกพรรษาแล้วก็เที่ยวจาริกเผยแพร่หลักธรรมคำสอน ระเบียบการปกครองหรือบังคับบัญชาก็ขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้าและพระภิกษุผู้บวชก่อน อาจเปรียบเทียบได้ว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังพ่อ ส่วนภิกษุผู้บวชก่อนก็เปรียบดังพี่ ความเป็นอยู่ก็ย่อมเคารพเชื่อฟังพ่อและพี่เป็นประมาณ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารจึงได้ถวายสวนเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในบวรพุทธศาสนา
ถามว่าใครเป็นสมภารเจ้าวัดแห่งวัดเวฬุวัน ตอบได้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นสมภารเจ้าวัดรูปแรกของวัดเวฬุวัน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังท้องถิ่นอื่นหรือไม่ได้ประทับอยู่ในวัด พระภิกษุผู้อาวุโสที่สุดก็ทำหน้าที่เปรียบดังสมภารเจ้าวัด ตามนัยนี้จะเห็นได้ว่าพระภิกษุรูปใดแก่ที่สุดโดยการบวชคือมีพรรษาสูงสุด พระภิกษุรูปนั้นก็ย่อมเป็นสมภารเจ้าวัดในวัดนั้นๆ ดังนั้น คุณสมบัติสมภารเจ้าวัดที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ พระภิกษุที่มีพรรษามากที่สุดภายในวัดขณะนั้น
พระศาสนาสมัยแรกเริ่มซึ่งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นานนัก จำนวนพระภิกษุสงฆ์ซึ่งในระยะแรกที่มีจำนวนน้อยก็ค่อยๆ มากยิ่งขึ้น ตลอดสถานที่อยู่คือวัดก็ค่อยๆ มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับเช่นเดียวกัน  ผู้ที่สมัครใจเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในสมัยต่อมา บางส่วนจึงมิใช่ผู้มีศรัทธาแรงกล้าเพื่อต้องการศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง กล่าวคือ วัตถุประสงค์ในการบวชย่อมมีหลากหลายยิ่งขึ้น บ้างก็บวชสนุกตามเพื่อน บ้างก็บวชเลี้ยงชีวิต บางก็บวชแสวงหาลาภ ทำนองว่า เมื่อข้าวดี กับดี ที่อยู่สบาย ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครมาอยู่ด้วยความเป็นอยู่ของสังคมพระภิกษุสงฆ์ซึ่งในระยะแรกเป็นไปทำนอง พ่อกับลูก และ พี่กับน้อง ก็ค่อยๆ ซับซ้อนยิ่งขึ้นตามหลักธรรมดาที่ว่าคนยิ่งมากก็ยิ่งยุ่ง ดังนั้น พระพุทธเจ้าในฐานะพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงบัญญัติพระวินัยและวางระเบียบแบบแผนเพื่อความเป็นบึกแผ่นและมั่นคงถาวรของพระศาสนา นั่นคือ ระบบพ่อกับลูกและพี่กับน้องก็ค่อยๆ เลือนหายไป โดยมีพระวินัยและขนบธรรมเนียมเข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันหลักธรรมะจะเป็นเครื่องช่วยประสานและบ่งชี้ว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร 
หนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ ในกัณฑ์ที่ ๑๓ เริ่มต้นไว้ว่า ในครั้งแรกตรัสรู้ ที่เรียกว่า ปฐมโพธิกาล ภิกษุยังไม่มากมาย ก็ยังปกครองง่าย เมื่อมีภิกษุมากขึ้น การปกครองก็ยากขึ้นตามกัน พระศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทวางเป็นพุทธอาณาและทรงตั้งขนบธรรมเนียมเป็นอภิสมาจาร มีมากขึ้นโดยลำดับเวลา . . . วินัยมุขกัณฑ์นี้ ได้แจกแจงการจัดประเภทภิกษุไว้หลายนัยเช่น อุปัชฌาย์ อาจารย์ สันธิวิหาริก และอันเตวาสิก เป็นต้น ส่วนสิ่งที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ การจัดประเภทพระภิกษุออกเป็น ๓ ระดับ โดยอาศัยพรรษาเป็นเกณฑ์ ได้แก่
๑/ พระนวกะ คือ ผู้แรกบวชหรือผู้ใหม่ มีพรรษายุกาลไม่ถึง ๕ พรรษา พระนวกะนี้ต้องถือนิสสัย กล่าวคือ ต้องอยู่กับอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ ต้องมีผู้ควบคุม ดูแล แนะนำสั่งสอน ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้
 ๒/ พระมัชฌิมะ คือ ผู้ปานกลาง มีพรรษายุกาลครบ ๕ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา พระมัชฌิมะนี้ เรียกอีกอย่างว่านิสัยมุตตกะ กล่าวคือ ไม่ต้องถือนิสสัย สามารถอยู่ตามลำพัง ครองตัวเองได้ แต่ไม่สามารถจะเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของผู้อื่นได้
 ๓/ พระเถระ คือ ผู้ใหญ่หรือผู้มั่นคง มีพรรษายุกาลครบ ๑๐ พรรษาขึ้นไป พระเถระนี้ สามารถรับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของผู้อื่นได้
อนึ่ง คุณสมบัติของพระมัชฌิมะและเถระนี้ นอกจากพรรษาแล้วก็ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นอาจบกพร่องหรืออนุโลมได้บ้าง แต่การนับจำนวนพรรษาไม่สามารถอนุโลมได้ นั่นคือ ถือว่าจำนวนพรรษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจำแนก อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุรูปใดแม้จะเกินห้าหรือเกินสิบพรรษาแล้ว แต่คุณสมบัติอื่นๆ ยังบกพร่องไม่ฉลาดเท่าที่ควรก็อาจยังไม่ได้รับการเลื่อนชั้น ส่วนการเลื่อนชั้นจากพระนวกะมาเป็นพระมัชฌิมะที่เรียกว่า การปลดนิสัย เป็นต้น เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งเรื่องนี้ในวินัยมุขกัณฑ์ที่๑๓ ได้สรุปไว้ว่า
หลักเหล่านี้ ดูมิใช่สำหรับไว้ให้ภิกษุตัดสินใจเอง  สำหรับอุปัชฌายะอาจารย์หรือพระเถระผู้เป็นใหญ่เหนือตน กำหนดรู้ว่าภิกษุผู้นิสิตของตน สมควรจะได้รับปลดนิสสัยให้อยู่ได้ตามลำพังหรือยัง และภิกษุผู้นิสสัยมุตตกะนั้น สมควรจะเป็นปริสุปัฎฐาปกะปกครองหมู่หรือยัง เมื่อเห็นสมควรก็จะได้ปลดจากนิสสัยและสั่งให้สงเคราะห์บริษัท ดังพระศาสดาได้ทรงทำมา เมื่อครั้งทรงส่งพวกสาวกไปประกาศพระศาสนา และเมื่อครั้งทรงอนุญาตให้พวกสาวกรับให้อุปสมบทได้เอง ด้วยให้ถึงไตรสรณคมน์"
จะเห็นได้ว่า ตามระเบียบวินัยยังคงยึดถือความสำคัญของพรรษาเป็นเกณฑ์เบื้องต้น และให้อำนาจแก่พระเถระผู้ใหญ่ในการกำหนดความเป็นอยู่และเป็นไปของคณะสงฆ์ แต่มิได้ยึดถือพรรษาเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นประกอบพรรษาด้วย  ฉะนั้น เราจึงมาดูว่าคุณสมบัติอื่นของพระผู้มีพรรษาเกินห้าหรือสิบพรรษาที่ควรจะเป็นสมภารเจ้าวัดนั้นเป็นอย่างไรบ้าง               
คุณสมบัติของพระมัชฌิมะ นอกจากจะมีพรรษาครบ ๕ กาลฝนแล้ว จะต้องประกอบด้วย
๑. เป็นผู้มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป (หิริ) มีความเกรงกลัวต่อบาป (โอตตัปปะ) มีความเพียร มีสติ
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟังมามาก มีปัญญา
๓. รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา อาบัติหนัก จำปาติโมกข์ได้แม่นยำ 
คุณสมบัติของพระเถระ นอกจากจะมีพรรษาครบ ๑๐ กาลฝนแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้คือ
๔. สามารถทำเอง หรือสั่งให้ผู้อื่น ช่วยพยาบาลพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ที่เจ็บไข้ได้ป่วย (สันธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกผู้อาพาธ) ช่วยระงับความกระสันสึก และช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดแก่พระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ได้โดยทางธรรม รู้จักอาบัติและวิธีออกจากอาบัติ
๕. สามารถฝึกสอนพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ทั้งในส่วนขนบธรรมเนียมมารยาทเบื้องต้น (อภิสมาจาร) และในส่วนของพรหมจรรย์เบื้องต้น สามารถแนะนำในธรรมวินัยที่สูงๆ ขึ้นไป และแก้ไขความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องของพระภิกษุสามาเณรผู้เป็นศิษย์ได้                
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่า พระภิกษุผู้ที่ พอจะเฝ้าวัดได้ตามลำพัง จะต้องมีพรรษา ๕ กาลฝนขึ้นไป นั่นคือ คุณสมบัติสมภารเจ้าวัดเบื้องต้นตามพระวินัยจะต้องมีพรรษา ๕ กาลฝนขึ้นไป แต่ถ้าจะให้เหมาะสมแล้วก็ควรจะมีพรรษา ๑๐ กาลฝนขึ้นไป และต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ สำหรับความเป็นพระผู้ใหญ่ที่เรียกกันว่า คุณเครื่องความเป็นพระเถระ ตามพระวินัยอีกด้วย เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งเห็นจริงหรือประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักพระศาสนาดังนั้น คุณสมบัติสมภารเจ้าวัดในสมัยต่อมาจึงอาจกำหนดได้ว่า จะต้องมีพรรษา ๕ กาลฝนขึ้นไป ถ้าในกรณีที่มีพระภิกษุที่มีพรรษาเกินกว่า ๕ กาลฝนหลายรูปก็กำหนดให้พระภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดเป็นสมภารเจ้าวัด ซึ่งคุณสมบัติตามนัยนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อมาถึงสมัยปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้กระจายไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลก แม้ว่าหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาจะเป็น อกาลิกธรรม กล่าวคือเป็นธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาสำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติ แต่ในส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักธรรม ก็มีผู้อธิบายขยายความและประยุกต์ใช้ไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และท้องถิ่นนั้นๆ และในส่วนขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีทางศาสนาก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวถึง วัด ซึ่งเป็นศาสนสถานแล้วก็ต้องมีสมภารเจ้าวัด ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลภายในวัด คุณสมบัติเบื้องต้นก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและค่านิยมของท้องถิ่นและสังคมนั้นๆ เช่น วัดในประเทศมาเลเซีย สมภารเจ้าวัดจะต้องเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย หรือวัดในประเทศศรีลังกา สมภารเจ้าวัดจะต้องเป็นลูกหลานของตระกูลที่เป็นเจ้าของวัดนั้นๆ (ฟังมาว่า บางครั้งตระกูลนั้นยังไม่มีลูกหลานที่บวชเป็นพระภิกษุ มีเพียงสามเณรเท่านั้น ดังนั้น สามเณรก็กลายเป็นผู้ปกครองดูแลวัด หรือสมภารเจ้าวัด นั่นเอง) เป็นต้น 
เฉพาะประเทศไทย เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ คือ ต้องนับถือพระพุทธศาสนา และมีกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนามากมาย เฉพาะการปกครองคณะสงฆ์ก็มีกฎหมายรองรับอำนาจการปกครองของคณะสงฆ์เสมอมา โดยขณะนี้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นหลักสำคัญ ซึ่งในพระราชบัญญัตินี้ก็อนุญาตให้ออกกฎกระทวงและกฎมหาเถรสมาคม (กฎกระทรวงมีฐานะเป็นกฎหมาย ส่วนกฎมหาเถรสมาคมมิใช่กฎหมาย ผู้สนใจประเด็นนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยเฉพาะ) เฉพาะเรื่องเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดนั้น อำนาจและหน้าที่เจ้าอาวาสอยู่ในพระราชบัญญัติ ส่วนคุณสมบัติและที่มาที่ไปอยู่ในกฎมหาเถรสมาคม ดังนั้น เรามาดูว่ากฎหมายปัจจุบันได้กำหนดเรื่องสมภารเจ้าวัดไว้อย่างไรบ้าง  
สมภารเจ้าวัดคือตำแหน่งเจ้าอาวาสจัดเป็น พระสังฆาธิการ หมายถึง พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งมี ๖ ระดับชั้น คือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส (บางตำแหน่งสามารถมีรองฯ หรือ ผู้ช่วยฯ ได้ตามความเหมาะสม)
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ในข้อ ๔ บอกว่า พระสังฆาธิการ หมายถึง พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ส่วนพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการได้นั้น ในข้อ ๖ ได้บอกไว้ว่า จะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังต่อไปนี้
(๑)   มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
(๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
(๓)  มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
(๔)  เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
(๕)  ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจมาก่อน
(๖)   ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
(๗)  ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน 
ก่อนที่จะกล่าวถึงคุณสมบัติเจ้าอาวาสตามกฎหมาย มีข้อปลีกย่อยที่ควรทราบเกี่ยวกับการจัดประเภทวัดในประเทศไทยซึ่งมี ๒ ประเภท คือ
วัดราษฎร์ ได้แก่ วัดชาวบ้านทั่วๆ ไป จะเป็นวัดขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม
พระอารามหลวง ได้แก่ วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาคือสร้างขึ้นเอง วัดที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์คือฟื้นฟูหรือซ่อมแซ่มขึ้นมาภายหลัง และวัดที่ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ให้เป็นพระอารามหลวง พระอารามหลวงเหล่านี้ มีรายระเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง เช่น แบ่งเป็นชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก. . . จัดประเภทเป็นชนิดราชวรมหาวิหาร วรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรวิหาร สามัญ . . . และยังกำหนดเป็นพระอารามหลวงในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะมาเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงเหล่านี้ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายประการ ฉะนั้น ผู้เขียนจะขอละไว้ ไม่นำมากล่าวในที่นี้ ผู้สนใจเรื่องนี้ไปค้นหาเองเถิด 
เฉพาะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ทั่วๆ ไป กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑)  ระบุไว้ในข้อ ๒๖ ว่า พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งดังนี้
(๑)   มีพรรษาพ้น ๕ และ
(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น 
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติเจ้าอาวาสตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับพระธรรมวินัย นั่นคือ ข้อแรกการมีพรรษาได้ ๕ กาลฝนเป็นอย่างน้อย ประสงค์เอาพระภิกษุผู้พ้นจากการเป็นพระนวกะ เป็นพระมัชฌิมะพ้นจากนิสัยกล่าวคือสามารถจะเฝ้าวัดอยู่ตามลำพังได้ ส่วนคุณสมสมบัติอื่นๆ ของพระมัชฌิมะนั้นได้รวมไว้ในข้อที่สอง กล่าวคือ ได้รับการยอมรับนับถือจากบรรพชิตและคฤหัสถ์ในท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง
ประเด็นข้อที่สองนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็กน้อย กล่าวคือ ตามพระวินัยเดิมอนุญาตให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ประเมินค่าว่า เมื่อพระนวกะรูปนั้นๆ ได้ล่วงเลยมา ๕ กาลฝนแล้ว สมควรจะยกขึ้นเป็นพระมัชฌิมะหรือยัง ? โดยอาศัยคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์ แต่การแต่งตั้งเจ้าอาวาสจะใช้สังคมในท้องถิ่นนั้นๆ รวมกันทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นผู้ประเมินค่าว่าพระภิกษุรูปนั้นๆ มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งประเด็นนี้ทำให้มีปัญหาในเวลาต่อมา นั่นคือ บางท่านบอกว่าสมควรเป็นได้เพราะมีความเหมาะสม ๑ ๒ ๓ ๔ ... แต่บางคนก็แย้งว่ายังเป็นไม่ได้เพราะมีข้อบกพร่อง ๑ ๒ ๓ ๔ ... นั่นคือ มีปัญหาถกเถียงกัน ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเคยได้ยินพระเถระผู้หนึ่งกล่าวไว้ในอดีตว่า บรรดาตำแหน่งพระสังฆาธิการ เจ้าอาวาสตั้งยากที่สุดเพระอาศัยการยอมรับจากคนหลายๆ ฝ่าย ดังนั้น ประเด็นนี้จึงมีการแก้ไขในเรื่องการตั้งสมภารเจ้าวัดในสมัยต่อมา ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในหัวข้อต่อไป
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/67080

วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

คำถวายทาน



๑. คำอธิษฐานเวลาทำบุญ
สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขยาวะหัง โหตุ
ขอทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าหมดความเศร้าหมองใจเถิด

๒. คำถวาย ธูป เทียน ดอกไม้
อิมานิ มะยัง ภันเต ธูปะทีปะบุปผะวรานิ ระตะนัตถายัสเสวะ อภิปูชยามะอัมหากัง ระตะนัตตะ ยัสสะ หิตะสุขาวะหา โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาด้วยธูปเทียนและมีเทียนจำนำพรรษาเป็นต้น และดอกไม้ทั้งหลายอันประเสริฐนี้ แก่พระรัตนตรัยก็กิริยาที่บูชาพระรัตนตรัยนี้ จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานและเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลสเทอญ

๓. คำถวายเงินทำบุญ (ตั้ง นะโม สามจบ)
สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ นิพฺพานปัจฺจโย โหตุ ฯ
ขอทานของข้าพเจ้า อันให้ดีแล้วหนอ จงนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวกิเลส จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานฯ

๔. คำอธิษฐานเมื่อจบของต่าง ๆ ถวายพระ
สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ ฯ
ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส

๕. คำถวายข้าวพระพุทธ
อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ
ข้าพเจ้าขอบูชาด้วยโภชนะข้าวสาลี พร้อมด้วยแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า

๖. คำลาข้าวพระพุทธ
เสสัง มังคะลัง ยาจามิ ฯ
ข้าพเจ้าขอคืนเศษอันเป็นมงคลนี้ ข้าพเจ้าขอภัตต์ที่เหลือที่เป็นมงคลด้วยเถิด

๗. คำถวายข้าวใส่บาตร (ยกขันข้าวขึ้นจบ ตั้ง นะโม สามจบ)
อหํ ภนฺเต โภชนานํ สาลีนํ ปรสุทฺธํ พุทฺธสาวก สงฺฆํ ปิณฺฑปาตํ โส โหตุ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าวสาลีอันบริสุทธิ์นั้นจงสำเร็จแก่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้นเถิด ฯ

๘. คำถวายของใส่บาตร
อิทัง ทานัง สีละวันตานัง ภิกขูนัง นิยาเทมิ สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพานะปัจจะโย โหตุ
ข้าพเจ้าขอน้อมถวายท่านอันนี้ แด่พระสงฆ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานด้วยเทอญ

๙. คำถวายผ้าป่า
อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจิวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานายะจะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

๑๐. คำถวายสังฆทาน (ถวายเพื่อความสุขความเจริญ)
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารนิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ

๑๑. คำอาราธนาธรรม
พรัหมมา จะโลกาธิปะตี สะหัมปะตี กัตอัญชะลี อันธิวรัง อะยาจะถะ สันตีธะ สัตตาปปะระชัก ขะชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อุนะกัมปิมัง ปะชัง ฯ
ท้าวสหัมบดีแห่งโลก ได้ประคองอัญชลีทูลวิงวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่า สัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาน้อย มีอยู่ในโลกนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดแสดงธรรมอนุเคราะห์ด้วยเถิด

๑๒. คำกรวดน้ำ
อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตาโหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายจงมีความสุขภายสุขใจเถิด

๑๓. คำอาราธนาศีล 5
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุงวิสุง รักขะ นัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอศีล 5 ข้อ พร้อมทั้งพระรัตนตรัย เพื่อประโยชน์แก่การจะรักษาต่าง ๆ กัน

๑๔. คำอาราธนาพระปริต
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะทุกขะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะภะยะวินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะโรคะวิสาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง
ขอพระสงฆ์ทั้งหลาย จงสวดพระปริต อันเป็นมงคล เพื่อป้องกันความวิบัติ เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง และเพื่อให้ทุกข์ทั้งปวงพินาศไป เพื่อให้ภัยทั้งปวงพินาศไป เพื่อให้โรคทั้งปวงพินาศไป

๑๕. คำถวายเครื่องสังเวยพระภูมิ
ภุมมัสมิง มิสาภาเค สันติเทวา มะหิทธิกา เตปิอัมเห อนุรักขันตุ อะโรคะเยนะ สุเขนะ จะสูปพยัญชะนสัมปันนัง สาลีนัง โภชนัง อุทะกัง วรัญจะ ปริภุญชันตุม เทวะตา ชะยะมังคะลานุภา เวนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ เม.

๑๖. คำถวายผ้ากฐิน
อิมัง มะยัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สัง"สสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โนภันเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวาจะ, อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานายะจะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และเมื่อรับแล้วขอจงกรานใช้กฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

๑๗. คำหลั่งน้ำถวายพระภูมิ
อะยัง ภูมิปะเทโส วิสุงคาโม สุขี โหตุ.
ขอภูมิประเทศ ส่วนแห่งบ้านนี้ จงมีความสุข ฯ

๑๘. คำภาวนาเวลารดน้ำศพ
กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง อะโหสิกัมมัง สัพพะปาปัง วินัสสะตุ
อิทัง มะตะกะสะรีรัง อุทะกัง วิยะ สิญจิตัง อะโหสิ กัมมัง.
กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3
ขอให้อโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า ทั้งต่อหน้าและลับหลังด้วยเทอญ

๑๙. คำภาวนาเวลาทอดผ้าศพให้พระบังสุกุล
นามะรูปัง อะนิจจัง นามะรูปัง ทุกขัง นามะรูปัง อะนัตตา.
นามรูป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน.

๒๐. คำภาวนาเวลาเผาศพ
อะยัมปิ โข เม กาโย เอวัง ภาวี เอวัง ธัมโม เอวัง อะนะตีโต.
กายของเรานี้ ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน มีอย่างนี้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้.

๒๑. คำถวายสลากภัต
เอตานิ มยํ ภนฺเต, สลากภตฺตานิ, สปริวารานิ, อสุกฏฺ€าเน, €ปิตานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, เอตานิ, สลากภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายสลากภัตตาหารกับทั้งบริวาร ทั้งหลาย ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้นนั้น แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งสลากภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๒. คำถวายข้าวสาร
อิมานิ มยํ ภนฺเต ตณฺฑุลานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ, ตณฺฑุลานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวสารกับทั้งเครื่องบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวสารกับทั้งเครื่องบริวารทั้งหลาย เหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ ความร่มเย็นเป็นสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

๒๓. คำถวายเภสัชทานมีน้ำผึ้งเป็นต้น
สรโท นามายํ ภนฺเต, กาโล สมฺปตฺโต, ยตฺถ ตถาคโต, อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ, สารทิกาพาเธน อาพาธิกานํ, ภิกฺขูนํ, ปญฺจ เภสชฺชานิ, อนุญฺญาสิ, สปฺปึ, นวนีตํ, เตลํ, มธุง ผาณิตํ, มยนฺทานิ, ตกฺกาลสทิสํ สมฺปตฺตา ตสฺส ภควโต, ปญฺตฺตานุคํ, ทานํ ทาตุกามา, เตสุ ปริยาปนฺนํ, มธุง จ, เตลํ จ, ผาณิตํ จ, ภิกฺขูนญฺเจว, สามเณรานญฺจ, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, อยฺยา ยถาวิภตฺตา, มธุทานํ จ, เตลํ จ, ผาณิตํ จ, ปฏิคฺคณฺหนฺตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ บัดนี้สรทกาลมาถึงแล้ว ในกาลใดเล่า พระตถาคต อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตเภสัช ๕ อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แก่ภิกษุ ทั้งหลายผู้อาพาธ ด้วยโรคเกิดในสรทกาล บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มาถึงกาลเช่นนี้แล้ว ปรารถนา จะถวายทานตามพระพุทธานุญาต ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงถวายน้ำผึ้งกับน้ำมันและน้ำอ้อย อันนับเข้าในเภสัช ๕ อย่างนั้น แก่ภิกษุและสามเณรทั้งหลาย ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงรับ มธุทาน เตลทาน และผาณิตทาน ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตามที่แจกถวายแล้วนั้น เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๔. คำถวายเสนาสนะ กุฏิ วิหาร
อิมานิ มยํ ภนฺเต, เสนาสนานิ, อาคตานาคตสฺส, จาตุทฺทิสสฺส, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, เสนาสนานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเสนาสนะเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้มีในทิศทั้ง ๔ ที่มาแล้วก็ดี ยังไม่มาก็ดี ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ เสนาสนะเหล่านี้ ของข้าพเจ้า ทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๕. คำถวายศาลาโรงธรรม
มยํ ภนฺเต, อิมํ สาลํ, ธมฺมสภาย, อุทฺทิสฺส, จาตุทฺทิสสฺส, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมํ สาลํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายศาลาหลังนี้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มี ในทิศทั้ง ๔ อุทิศเพื่อเป็นสถานที่แสดงธรรม ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ศาลาหลังนี้ของข้าพเจ้า
ทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๖. คำถวายผ้าวัสสิกสาฎก
อิมานิ มยํ ภนฺเต, วสฺสิกสาฏิกานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, วสฺสิกสาฏิกานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวาร เหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้า ทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

หมายเหตุ :- ถ้าไม่มีเครื่องบริวารถวายพ่วงด้วย ก็ตัดคำบาลีว่า "สปริวารานิ" และคำแปลว่า "กับทั้งบริวาร" ออกเสียทุกแห่ง

๒๗.คำถวายผ้าจำนำพรรษา
อิมานิ มยํ ภนฺเต, วสฺสาวาสิกจีวรานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, วสฺสาวาสิกจีวรานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวาร เหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้า ทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๘. คำถวายผ้าอัจเจกจีวร
อิมานิ มยํ ภนฺเต, อจฺเจกจีวรานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, อจฺเจกจีวรานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอัจเจกจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอัจเจกจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๙. คำถวายผ้าป่า
อิมานิ มยํ ภนฺเต, ปํสุกูลจีวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โฮโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ปํสุกูลจีวรานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวาร เหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อ ประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๓๐. คำถวายผ้ากฐิน (แบบ ๑)
อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, (ว่า ๓ จบ)

คำแปล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ฯ

๓๑. คำถวายผ้ากฐิน (แบบ ๒)
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ, ก€ินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, สงฺโฆ, อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน, ก€ินํ, อตฺถรตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวาร นี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้วจงกราน กฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๓๒. คำถวายธูปเทียนดอกไม้เพื่อบูชา
อิมานิ มยํ ภนฺเต, ทีปธูปปุปฺผวรานิ, รตนตฺตยสฺเสว, อภิปูเชม, อมฺหากํ, รตนตฺตยสฺส ปูชา, ทีฆรตฺตํ, หิตสุขาวหา, โหตุ, อาสวกฺขยปฺปตฺติยา.

คำแปล
ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาธูปเทียนและดอกไม้ อันประเสริฐเหล่านี้ แก่พระรัตนตรัย กิริยาที่บูชาแก่พระรัตนตรัยนี้ จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน จงเป็นไปเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นที่สิ้นไป แห่งอาสวกิเลส เทอญ ฯ

๓๓. คำถวายกระทงสำหรับลอยประทีป
มยํ อิมินา ปทีเปน, อสุกาย, นมฺมทาย, นทิยา, ปุลิเน €ิตํ, มุนิโน, ปาทวลญฺชํ, อภิปูเชม, อยํ, ปทีเปน, มุนิโน ปาทวลญฺชสฺส, ปูชา, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, สํวตฺตตุ.

คำแปล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชา ซึ่งรอยพระพุทธบาท ที่ตั้งอยู่เหนือหาดทราย ในแม่น้ำ ชื่อนัมมทานทีโน้น ด้วยประทีปนี้, กิริยาที่บูชารอยพระพุทธบาท ด้วยประทีปนี้ ขอจงเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๓๔. คำถวายธงเพื่อบูชา
มยํ อิมินา, ธชปฏาเกน, รตนตฺตยํ, อภิปูเชม, อยํ ธชปฏาเกน, รตนตฺตยปูชา, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, สํวตฺตตุ.

คำแปล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชา ซึ่งพระรัตนตรัย ด้วยธงแผ่นผ้านี้ กิริยาที่บูชาพระรัตนตรัย ด้วยธงแผ่นผ้านี้ ขอจงเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๒๕. คำถวายเวจกุฎี (ห้องสุขา)
มยํ ภนฺเต, อิมํ วจฺจกุฏึ, อาคตานาคตสฺส, จาตุทฺทิสสฺส, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ อิมํ, วจฺจกุฏึ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเวจกุฎีหลังนี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้มีในทิศทั้ง ๔ ที่มาแล้วก็ดี ยังไม่มาก็ดี ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับเวจกุฎีหลังนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

๓๖. คำถวายสะพาน
มยํ ภนฺเต, อิมํ, เสตุง  มหาชนานํ, สาธารณตฺถาย, นิยฺยาเทม, สาธุ โน ภนฺเต, สงฺโฆ, อิมสฺมึ, เสตุมฺหิ, นิยฺยาทิเต, สกฺขิโก โหตุ, อิทํ, เสตุทานํ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, สํวตฺตตุ.

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวาย ซึ่งสะพานนี้ เพื่อประโยชน์ ทั่วไป แก่มหาชนทั้งหลาย ขอพระสงฆ์จงเป็นพยาน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ในสะพานที่ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้มอบให้แล้วนี้ ขอเสตุทานนี้ จงเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้า ทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ



http://www.buddhismth.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538962607&Ntype=8

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

OPPO N1 mini Selfie





รีวิว OPPO N1 mini Selfie สุดฟรุ๊งฟริ๊ง ด้วยกล้องหมุนได้ 13 ล้านพิกเซล
โพสต์เมื่อ : 28 สิงหาคม 2557 เวลา 15:30:38
        สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดจาก OPPO ที่เกิดมาเพื่อคนที่ชื่นชอบการ Selfie โดยความพิเศษของรุ่นนี้อยู่ที่กล้องความละเอียดสูง 13 ล้านพิกเซลที่หมุนได้ 195 องศา หมุนกล้องมาด้านหน้าถ่าย Selfie ได้ด้วยความละเอียดสูงแบบสุด ๆ บวกกับโหมดการถ่ายแบบ Beauty Plus ของ OPPO ที่ทำให้นายแบบนางแบบหน้าเนียนใสฟรุ๊งฟริ๊งได้แบบไม่ต้องง้อเครื่องสำอาง ใครที่อยากได้สมาร์ทโฟน Selfie ได้แจ่ม ๆ รับรอง OPPO N1 mini ไม่ทำให้ผิดหวัง
        N1 mini มาพร้อมขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว ซึ่งถือว่าเป็นขนาดหน้าจอที่ถูกใจหลาย ๆ คน เพราะเป็นขนาดที่กำลังดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป และมีสเปกที่แรงคุ้มราคาค่าตัว 12,990 บาท ไม่ว่าจะเป็นชิป Qualcomm Snapdragon 400 ที่มีหน่วยประมวลผล 4 แกน (Quad Core) 1.6GHz ในส่วนของ RAM อัดมาให้แบบเต็มๆ 2GB และหน่วยความจำภายใน 16GB ทำให้ OPPO N1 mini เป็นสมาร์ทโฟนระดับราคากลางๆ ที่รองรับการใช้งานสำหรับทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทางด้านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แชท ท่องอินเทอร์เน็ต หรือเล่นเกม
OPPO N1 mini
 ขนาดหน้าจอ
  5.0” IPS-LCD
 ความละเอียดหน้าจอ  1,280x720 (293 ppi)
 ระบบปฏิบัติการ  Color OS 1.4 (Android 4.3)
 CPU  Qualcomm Snapdragon 400 – Quad Core 1.6GHz
 RAM / หน่วยความจำภายใน  2GB / 16GB
 กล้อง  กล้องหมุนได้ 195 องศา 13 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช (ถ่ายภาพ 24 ล้านพิกเซลในโหมด Ultra-HD)
 เครือข่าย 3G  850 / 900 / 2100MHz (รองรับ 3G ของ dtac, truemove H, AIS)
 Battery  2,140mAh
 สีให้เลือกซื้อ   ขาว, ฟ้า
 ราคา  12,990 บาท
แกะกล่อง ลองของใหม่
       OPPO N1 mini ที่ได้รับมาทดสอบแพ็กมาในกล่องที่บุด้วยหนังสีขาว ให้ความรู้สึกที่หรูหราและดูดีไม่น้อย เปิดฝากล่องออกก็พบ N1 mini นอนสงบนิ่งอยู่ภายในพร้อมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จัดมาให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเข็มสำหรับจิ้มถอดถาดใส่ซิม, หนังสือคู่มือแนะนำการใช้งานเล่มเล็กๆ 2 เล่มที่จัดทำมาเป็นภาษาไทยเรียบร้อย, อะแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่, สาย USB และสายหูฟัง Small Talk
ดีไซน์สวย
        ครั้งแรกที่ได้สัมผัส OPPO N1 mini ต้องบอกว่าเป็นความรู้สึกที่น่าประทับใจกับผิวตัวเครื่องที่ออกสีขาวนวลๆ คาดขอบด้านข้างด้วยแถบเส้นสีทองได้อย่างสวยงามลงตัว ใครใช้รุ่นนี้รับรองว่าถือไปอวดเพื่อนได้ไม่อายใคร การประกอบตัวเครื่องก็ทำได้แข็งแรงแน่นหนาดีมาก ไม่มีจุดไหนที่หลวมคลอน หน้าจอ 5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD 720p ของ OPPO N1 mini ให้การแสดงการแสดงผลที่สวยงามและละเอียดคมชัดดีมาก สีสันอิ่มเข้มสดใส และด้วยความที่เป็นจอที่ให้มุมมองทางด้านข้างที่กว้าง ทำให้สีสันไม่ได้ดรอปลงมากมายเมื่อมองจอจากมุมเฉียง ทำให้เปิดดูภาพถ่ายหรือภาพสวยๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้อย่างสวยงาม
ลำโพงสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ติดตั้งอยู่บนชิ้นกล้องที่หมุนได้ 195 องศา การสนทนาโทรศัพท์ให้เสียงที่ดังชัดเจนดีทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีปัญหาเรื่องเสียงเบาหรือเสียงก้อง
ขอบซ้ายตัวเครื่องมีเพียงปุ่ม Power เปิด/ปิด หน้าจอ
ขอบขวาตัวเครื่องมีปุ่ม เร่ง/ลดเสียง และถาดใส่ซิมการ์ด
การใส่ซิมการ์ดต้องใช้เข็มที่แถมมาให้ในกล่อง จิ้มเข้าที่รูเล็ก ๆ บนขอบขวาของตัวเครื่องเพื่อถอดถาดใส่ซิมการ์ด (ใช้ซิมการ์ดขนาด Micro)
ขอบล่างหน้าจอเป็นตำแหน่งของปุ่ม Menu, Home และ Back ที่มีแสงสีขาวเรืองออกมาจากปุ่ม ทำให้ใช้งานได้ดีในที่มืด
          ส่วนขอบด้านล่างตัวเครื่องเป็นตำแหน่งของช่องแจ็คเสียบสายหูฟัง พอร์ต USB และจุดที่ชอบใจมากคือการวางตำแหน่งช่องลำโพงไว้บนขอบล่างตัวเครื่อง ทำให้เสียงเพลงจากลำโพงไม่ถูกปิดทับเมื่อวางตัวเครื่องเครื่องไว้บนโต๊ะ โทนเสียงออกแนวนุ่มนวล ถ่ายทอดรายละเอียดเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีได้ดีมากเมื่อเทียบกับลำโพงของสมาร์ทโฟนทั่ว ๆ ไป ฟังเพลงแล้วเพลินกันเลยทีเดียว
OPPO N1 mini มีขนาดกำลังดีเมื่ออยู่ในมือ ไม่ใหญ่เกินจนจับถือได้ลำบาก
ใช้งานสะดวกด้วย Color OS 1.4
        OPPO N1 mini มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Color OS 1.4 (บนพื้นฐานของ Android 4.3) ที่ทำให้การใช้งานแอนดรอยด์โฟนเป็นเรื่องง่ายขึ้น สามารถสั่งงานหรือเรียกใช้แอปต่าง ๆ ในขณะที่หน้าจอยังปิดอยู่ได้อย่างงายดายด้วยฟีเจอร์ Gesture Control ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเปิดหน้าจอแล้วไล่หาแอปเหมือนสมาร์ทโฟนทั่วไป อย่างเช่นการวาดอักษร V บนหน้าจอในขณะที่หน้าจอปิดอยู่ ไฟฉายก็จะทำงานทันที หรือวาดวงกลมในขณะที่จอปิดอยู่ก็จะเป็นการเรียกใช้งานกล้องอย่างรวดเร็วทันใจ
       เราสามารถกำหนดรูปแบบการสั่งงานของ Gesture Control ได้อย่างอิสระ และสามารถสั่งงานได้ทั้งในขณะที่ปิดและเปิดหน้าจอ และที่ชอบมาก ๆ คือการสั่งปิดหน้าจอด้วยการแตะปุ่ม Home 2 ครั้ง และเมื่อต้องการจะเปิดหน้าจอ ก็แค่แต่หน้าจอ 2 ครั้ง ไม่ต้องกดปุ่ม Power อีกต่อไป มันเป็นอะไรที่เท่ห์มาก
อุ่นใจเมื่อใช้ OPPO N1 mini
        ในยุคนี้เรามีข้อมูลสำคัญทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และข้อมูลที่เป็นความลับมากมายเก็บไว้ในสมาร์ทโฟน ดังนั้น Color OS จึงได้รวมฟีเจอร์ทางด้านการรักษาความปลอดภัยเอาไว้ในตัว และมีให้ใช้งานอยู่ใน OPPO N1 mini โดยที่ไม่ต้องติดตั้งแอปใด ๆ เพิ่มเติม
       เริ่มด้วยด้วยฟีเจอร์แรก “ปกป้องแอปพลิเคชั่น” เป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าใช้งานแอปใด ๆ ในเครื่องด้วยระบบรหัสผ่าน (เลือกใช้รหัสได้ทั้งแบบตัวเลข 4 หลักหรือ หรือการวาด Pattern) และการเรียกใช้งานแอปใด ๆ ที่ถูกป้องกันไว้ ต้องป้อนรหัสผ่านให้ถูกต้องถึงจะใช้งานแอปได้
       อีกหนึ่งฟีเจอร์คือ “โหมด Guest” เหมาะมากสำหรับใครที่ชอบโดนเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวยืมเครื่องไปใช้งาน โดยมีการตั้งรหัสผ่านเพื่อการเข้าใช้งานเครื่องเป็น 2 ชุด รหัสชุดแรกเป็นของเจ้าของเครื่องที่มีสิทธิเปิดดูข้อมูลในเครื่องได้ทุกๆ อย่าง และรหัสชุดที่ 2 เป็นของ Guest หรือคนที่เราให้เครื่องยืมไปใช้ ซึ่งเราสามารถซ่อนไม่ให้ Guest เห็นรายชื่อโทรศัพท์บางรายชื่อ ไม่ให้เห็นไฟล์ภาพบางไฟล์ ไม่ให้เห็นไฟล์วิดีโอบางไฟล์ หรือซ่อนแอปบางตัวไม่ให้ Guest เห็นก็ยังได้ ให้เพื่อนยืมเครื่องได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะแอบมาล้วงความลับของเรา
        และสุดท้ายกับฟีเจอร์ “โหมดวันหยุด” ที่ดูแลความเป็นส่วนตัวในช่วงวันหยุดของคุณได้อย่างดีเยี่ยม โดยปฏิเสธสายเรียกเข้าทุกสายที่โทรเข้ามาในช่วงวันหยุด แต่ก็สามารถยกเว้นบางรายชื่อให้โทรเขามาหาคุณได้ เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือเลขาส่วนตัว เป็นต้น และยังมีฟังก์ชั่นที่เปิดโอกาสให้สายที่มีธุระเร่งด่วนจริงๆ สามารถโทรเข้ามาได้ (สายที่โทรซ้ำเข้ามา 3 ครั้งในเวลา 3 นาที) เป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่แสนรู้ และดูแลความเป็นส่วนตัวให้เราได้เป็นอย่างดี
แก้เบื่อด้วยธีมที่หลากหลาย
       ใครที่ใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเดิมไปนาน ๆ ย่อมเกิดอาการเบื่อจนพาลอยากจะเปลี่ยนเครื่องใหม่เป็นธรรมดา (ทั้ง ๆ ที่เครื่องก็ยังใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร) OPPO ช่วยแก้เบื่อให้ด้วยระบบการเปลี่ยนธีม (Theme) ที่เป็นการเปลี่ยนทั้งภาพพื้นหลัง และเปลี่ยนภาพไอคอนแอปน่ารัก ๆ ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกดาวน์โหลด และเปลี่ยนธีมได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ และมีให้ดาวน์โหลดเกินกว่า 100 ธีมกันเลยทีเดียว เปลี่ยนธีมแล้วเหมือนได้สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ แก้เบื่อได้ดีไม่น้อย
        หน้าจอปลดล็อกเข้าใช้งานเครื่องก็เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่มีให้เลือกเปลี่ยนได้หลายรูปแบบเพื่อแก้เบื่อ อย่างเช่น การปลดล็อกด้วยการใช้นิ้วรูดปากมอนสเตอร์ ปลดล็อกด้วยการพาคู่รักเดินไปหากัน หรือปลดล็อกด้วยการชูตบาส เป็นอีกลูกเล่นที่สร้างสีสันและแก้เบื่อได้ดี
รองรับความบันเทิงเต็มสูบ
        เมื่ออยู่ในหน้าจอ Home แค่เพียงปาดเลื่อนไปทางด้านซ้ายก็จะเข้าสู่หน้าจอสำหรับการถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว พอถ่ายเสร็จแล้วภาพก็จะแสดงในรูปแบบของ Timeline ทางด้านล่าง สามารถแตะเพื่อแชร์ภาพไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์กได้เลย ทำให้การถ่ายภาพง่ายและสนุกขึ้นอีกเยอะ
        เมื่ออยู่ในหน้าจอสำหรับการถ่ายภาพ ปาดเลื่อนหน้าจอไปทางซ้ายอีก 1 สเตปจะเข้าสู่หน้าจอสำหรับการฟังเพลง ที่ทำหน้าตาออกมาได้คลาสสิคในรูปแบบของเครื่องเล่นแผ่นเสียง และมีลูกเล่นอย่างการสวิงตัวเครื่องไปทางด้านซ้าย/ขวาเพื่อเปลี่ยนเพลง และเพิ่ม/ลดระดับเสียงได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ 2 นิ้วรูดขึ้น/ลงบนหน้าจอ
        คุณภาพเสียงกับการฟังเพลงของ OPPO N1 mini ต้องบอกว่าน่าประทับใจมาก การฟังเพลงด้วยชุดหูฟัง Small Talk ที่แถมมาให้ในกล่อง บวกกับการเปิดเอฟเฟ็คเสียง Dirac นั้นให้โทนเสียงที่ลงตัว ถ่ายทอดความพลิ้วไหวของเสียงร้อง ถ่ายทอดรายละเอียดเสียงสูงได้ดี และที่สำคัญคือเสียงเบสมาแบบจัดเต็มในระดับที่ฟังเพลงแดนซ์ได้สนุก
       และสำหรับการฟังเพลงด้วยชุดหูฟังอื่นๆ แนะนำว่าควรปิดเอฟเฟ็คเสียง Dirac เพื่อที่จะได้สัมผัสกับคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมของ OPPO N1 mini ด้วยโทนเสียงอิ่มแน่นคึกคักกระฉับกระเฉง ถ่ายทอดรายละเอียดเสียงร้องและชิ้นดนตรีต่าง ๆ ออกมาได้ดี เสียงเบสหนักแน่นชัดเจน ใครที่ชอบฟังเพลงและกำลังมองหาสมาร์ทโฟนเสียงดี ๆ OPPO N1 mini ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ
        ความบันเทิงจากการชมคลิปวิดีโอระดับความละเอียด Full HD ก็เป็นอะไรที่ OPPO N1 mini ตอบสนองได้ดี ด้วยสเปกเครื่องที่แรง หน้าจอที่ให้มุมมองภาพกว้าง และถ่ายทอดสีสันได้อิ่มเข้มสดใส ทำให้เปิดเล่นไฟล์วิดีโอระดับ Full HD ได้อย่างลื่นไหลไร้อาการกระตุก ให้ภาพที่สวยงามเนียนตา บวกกับระบบเสียงที่ดี ทำให้ดูวีดีโอได้อย่างสนุกสนาน
แรงไม่น้อยหน้าใคร
       OPPO N1 mini เป็นการอัพเกรดที่คุ้มค่าสำหรับคนที่ใช้สมาร์ทโฟน 2 แกนประมวลผล แล้วกำลังมองหาสมาร์ทโฟน 4 แกนเพื่อการใช้งานที่รวดกว่าเดิม จากการทดสอบด้วยแอป Antutu สามารถทำคะแนนไปได้ถึง 21,267 แรงไม่น้อยหน้าสมาร์ทโฟนรุ่นใด ๆ ในระดับราคาเดียวกัน และบททดสอบจากการใช้งานจริงก็พบว่าทำงานได้ลื่นไหลดีมาก ๆ ด้วยชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 400 ที่มี 4 แกนประมวลผลความเร็ว 1.6GHz บวกกับแรมที่อัดมาให้ถึง 2GB ทำให้การเรียกใช้งานแอป รวมถึงการสลับแอปไปมา ปิดแอปนั้นเปิดแอปนี้ ทำได้อย่างรวดเร็วทันใจดีมาก ๆ ไม่ต้องเสียเวลารอเปิดแอปให้เสียอารมณ์ ประสิทธิภาพดีพอสำหรับการติดตั้งและใช้งานแอปทุกรูปแบบ
        ในส่วนของระบบ GPS เพื่อการนำทางหรือการแชร์สถานที่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็จับสัญญาณได้รวดเร็ว และจับสัญญาณได้นิ่งดี ไม่มีอาการแกว่งของสัญญาณให้เห็น
เกมเล็กเกมใหญ่เล่นได้หมด
       ด้วยสเปกแรง ๆ และหน่วยความจำภายในที่จัดมาให้ถึง 16GB ทำให้ OPPO N1 mini รองรับการเล่นเกมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเกมเล็กเกมใหญ่ เกมหนักเกมเบา สมาร์ทโฟนเครื่องนี้เอาอยู่หมด เราทดสอบโดยการติดตั้งและเล่นเกมกราฟิกสวย ๆ ที่ต้องการสเปกแรง ๆ อย่างเกมรถแข่ง Asphalt 8: Airborne และเกมแอคชั่นต่อสู้สุดมันส์ กราฟิกสวยโหด Batman Arkham Origins รวมถึงเกมยอดนิยม ณ เวลานี้อย่าง  LINE เกมเศรษฐี ผลออกมาว่าสามารถเล่นเกมทั้ง 3 ได้อย่างลื่นไหลไร้อาการสะดุดขณะเล่น กราฟิกและแสงสีในเกมก็ออกมาสวยงามดี และด้วย RAM ขนาดใหญ่ถึง 2GB ทำให้โหลดเกมหนัก ๆ อย่าง Asphalt 8 และ Batman ได้รวดเร็วมาก
ถ่ายภาพคมชัดสุด ๆ แบบ Ultra-HD ระดับ 24 ล้านพิกเซล
       OPPO N1 mini เป็นสมาร์ทโฟนที่มีจุดขายในเรื่องของกล้องความละเอียดสูง 13 ล้านพิเซล แถมยังมีโหมดการถ่ายภาพแบบ Ultra-HD ที่ให้ภาพถ่ายความละเอียดสูงถึง 24 ล้านพิกเซลด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ Pure Image Engine 2.0 ที่มีเฉพาะในสมาร์ทโฟนของ OPPO ด้วยค่ารูรับแสงที่กว้างถึง F2.0 และชิ้นเลนส์พิเศษที่ผ่านการเคลือบผิวเพื่อแก้ปัญหาสีผิดเพี้ยน ทำให้ OPPO N1 mini ให้ภาพถ่ายที่สว่างแม้ถ่ายในสภาพแสงที่ค่อนข้างน้อย มีระบบ Auto Focus ที่หาโฟกัสภาพและบันทึกภาพลงหน่วยความจำได้รวดเร็ว เป็นกล้องที่นางแบบชอบเพราะไม่ต้องเก๊กหน้าสวยเพื่อรอถ่ายภาพกันนานๆ การถ่ายทอดสีสันก็ทำได้สวยงามสมจริง ให้ภาพที่คมชัดและเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของภาพได้ดี ใช้ถ่ายภาพแทนกล้องดิจิตอลได้อย่างสบาย ๆ การถ่ายคลิปวิดีโอก็ถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงถึงระดับ Full HD
        โหมดการถ่ายภาพแบบ Ultra-HD ที่ให้ภาพ 24 ล้านพิกเซล (เข้าโหมด Ultra-HD โดยการเข้าแอปกล้อง แล้วแตะปุ่ม 3 จุดที่อยู่ตรงมุมล่างขวาหน้าจอ แล้วเลือก Ultra-HD) ถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ Pure Image Engine 2.0 ที่เป็นการถ่ายภาพต่อเนื่อง 6 ภาพ แล้วนำส่วนที่ดีที่สุดของทั้ง 6 ภาพมารวมกันเป็นภาพความละเอียดสูงภาพเดียว ผลงานภาพที่ได้จากโหมด Ultra-HD ก็น่าประทับใจมาก ให้ภาพถ่ายขนาด 24 ล้านพิกเซลที่เก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของภาพได้ดีแบบสุด ๆ ดังเช่นภาพตัวอย่างที่นำมาให้ดู สามารถซูมเจาะให้เห็นรายละเอียดของป้ายคัทเอาท์ที่แสดงอยู่มุมไกล ๆ ในภาพได้เป็นอย่างดี
       การถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็ก อย่างดอกไม้หรือแมลงก็เป็นอีกหนึ่งงานถนัดของ OPPO N1 mini สามารถโฟกัสและเก็บภาพดอกไม้เล็ก ๆ ได้อย่างคมชัด สีสันอิ่มเข้มสวยงาม โทนสีถูกต้องเป็นธรรมชาติ ทำผลงานออกมาได้ดีไม่น้อยหน้ากล้องดิจิตอลเลยทีเดียว ใครที่มีสมาร์ทโฟนรุ่นนี้อยู่ในมือ ให้ลองถ่ายภาพดอกไม้แล้วคุณจะหลงรัก OPPO N1 mini มากขึ้นไปอีก
       กับการถ่ายภาพสวยๆ ยามค่ำคืน OPPO N1 mini ก็สามารถเก็บบรรยากาศของแสงสีออกมาได้สวยงามดี ตอบรับความต้องการของคนที่ชอบถ่ายเก็บบรรยากาศแสงสีสวย ๆ ยามค่ำคืน หรือคนที่ชอบไปดูงานแสดงไฟสวย ๆ ตอนกลางคืนได้เป็นอย่างดี โดยมีเคล็ดลับในการถ่ายเล็กน้อยเล็กน้อย เช่นถ้าภาพถ่ายออกมาสว่างเกินไป ให้ถ่ายใหม่โดยเลือกจุดโฟกัสตรงส่วนที่เป็นแสงไฟ ความสว่างของภาพก็จะลดลง แต่ถ้าภาพถ่ายออกมามืดเกินไป ให้ถ่ายใหม่โดยเลือกจุดโฟกัสตรงส่วนมืดของภาพ ภาพถ่ายที่ได้ออกมาก็จะสว่างขึ้น
ฟรุ๊งฟริ๊งที่สุดในสามโลก

กล้อง 13 ล้านพิกเซลหมุนได้ 195 องศา ให้มุมมองภาพแปลกใหม่
        ฟีเจอร์เด่นที่สุดของ OPPO N1 mini ต้องยกให้ดีไซน์การออกแบบในส่วนของกล้องหมุนได้ 195 องศา เมื่อจะ Selfie ก็หมุนกล้องกลับมาด้านหน้าได้อย่างง่ายดาย ทำให้เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่าย Selfie ได้ด้วยความละเอียดที่สูงถึง 13 ล้านพิกเซล และสำหรับใครที่กังวลว่ากล้องหมุนได้แบบนี้จะพังง่ายหรือเปล่า ตรงจุดนี้ไม่ต้องเป็นห่วงครับ เพราะ OPPO เขากล้ารับประกันตัวกล้องให้นานถึง 3 ปี และกล้องแบบหมุนได้นี้ยังเปิดโอกาสให้ได้มุมมองภาพที่แปลกใหม่มากมาย อย่างเช่น การหมุนกล้อง 90 องศา หันไปแอบถ่ายภาพหนุ่มหล่อสาวสวยได้แบบเนียนๆ หรือหันกล้อง 90 องศาแล้ววางตัวเครื่องไว้บนโต๊ะ ใช้โต๊ะเป็นขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายคลิปการเต้น B-Boy เป็นต้น ลองดูไอเดียการสร้างสรรค์มุมมองภาพที่แปลกใหม่ด้วย OPPO N1 mini ได้จากคลิปนี้
         การ Selfie ด้วยกล้อง 13 ล้านพิกเซลนั้นเก็บรายละเอียดบนใบหน้าได้ครบถ้วน แต่ถ้าใครที่ไม่ได้เกิดมาหน้าตาสวยเนียนหรือหล่อเนียนแบบดารา OPPO N1 mini ก็ช่วยคุณได้ด้วยโหมดการถ่ายภาพแบบ Beauty Plus (เข้าโหมด Beauty Plus โดยการเข้าแอปกล้อง แล้วแตะปุ่ม 3 จุดที่อยู่ตรงมุมล่างขวาหน้าจอ แล้วเลือก Beauty) รับประกันว่าภาพ Selfie จะออกมาดูดีเหมือนดารากันทุกคน
       ส่วนตัวผมเองไม่เคย Selfie มาก่อนในชีวิต เพราะหน้าตาไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อ OPPO N1 mini มาอยู่ในมือก็เลยต้องลองซะหน่อย ทีแรกลองถ่ายแบบปกติถึงกับรับหน้าตาตัวเองไม่ได้ ลองใหม่ด้วยโหมด Beauty Plus ปรากฏว่าปาฏิหาริย์มีจริง Selfie แล้วออกมาฟรุ๊งฟริ๊งหล่อเนียน แบบว่าประทับใจเลย ใครไม่เชื่อลองไปร้านตัวแทนจำหน่าย OPPO แล้วลองเล่นกันได้ครับ
O-Click รีโมทมหัศจรรย์
       อุปกรณ์เสริมของ OPPO N1 mini ที่น่าเล่นมากๆ ก็คือตัว O-Click เป็นรีโมทสีขาวทรงกลมที่มีขนาดใหญ่กว่าเหรียญ 10 บาทเล็กน้อย ความสามารถอย่างแรกเลยก็คือสั่งให้ OPPO N1 mini ถ่ายภาพได้จากระยะไกล ไม่ต้องแตะหน้าจอ เหมาะมากในสถานการณ์ที่ต้องการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์กว้างๆ โดยที่มีตัวคุณประกอบอยู่ในภาพวิวด้วย ความสามารถอย่างที่ 2 คือการป้องกันโทรศัพท์หาย อย่างเช่นในกรณีที่ไปนั่งในร้านอาหารแล้วเดินออกมาโดยลืมโทรศัพท์ไว้ในร้าน เหรียญ O-Cilck จะส่งเสียงร้องเตือนให้คุณรู้ และเดินกลับไปหยิบได้ทันก่อนที่จะมีใครเอาไป
       และความสามารถอย่างสุดท้ายคือการใช้ OPPO N1 mini หรือ O-Click ตามหาซึ่งกันและกันได้ ด้วยการสั่งให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งเสียงร้อง ทำให้รู้ได้ทันทีว่าไปวางลืมโทรศัพท์หรือ O-Click ไว้ตรงไหน และห่วงสีเงินที่ตัว O-Click สามารถร้อยพวงกุญแจเข้าไปได้ ทำให้ตามหาพวงกุญแจได้ง่ายขึ้น ตอบโจทย์คนขี้ลืมได้เป็นอย่างดี และราคาขายของ O-Click เพียง 990 บาท ก็นับว่าถูกมากกับของเล่นล้ำ ๆ แบบนี้
บทสรุป OPPO N1 mini
       ด้วยกล้องหมุนได้ 195 องศา บวกกับโหมดการถ่ายภาพแบบ Ultra-HD และโหมดการถ่ายแบบฟรุ๊งฟริ๊ง ทำให้ OPPO N1 mini เป็นสมาร์ทโฟนที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ โดยเฉพาะการถ่าย Selfie และในมุมของประสิทธิภาพการทำงาน ก็จัดสเปกมาให้เต็มคุ้มราคาค่าตัวที่ไม่แพง รองรับการเล่นแอปและเกมได้หลากหลาย และด้วยอุปกรณ์เสริม O-Click ก็เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่ทำให้ OPPO N1 mini น่าใช้งานมากขึ้น
จุดเด่นของ OPPO N1 mini
* กล้อง 13 ล้านพิกเซล หมุนได้ 195 องศา
* เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่าย Selfie ได้ดีที่สุด ณ เวลานี้
* ถ่ายภาพโหมด Ultra-HD 24 ล้านพิกเซล
* ใช้งานสะดวกด้วยระบบ Color OS
* มีอุปกรณ์เสริม O-Click
* ประสิทธิภาพดีในราคาคุ้มค่า

http://android.kapook.com/view97029.html

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พิธีลาบรรพชา(ลาสิกขา หรือ ลาสึก)




พิธีลาบรรพชา(ลาสิกขา หรือ ลาสึก)

การสึก ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญอย่างยิ่งในชีวิต เพราะการลาจากสมณเพศมาเป็นคฤหัสถ์นั้น ก็เพื่อหวังการตั้งตัวในฐานะที่จะเป็นผู้ครองคฤหาสน์(พ่อบ้าน) ต่อไป เท่ากับเอากำเนิดใหม่ในชีวิตบั้นปลายปฐมวัย จึงจำต้องเลือกทำกันในวันที่มีฤกษ์งามยามดี สำหรับเดือนนั้นไม่ห้าม จะใช้เดือนใดก็ได้ ธรรมดามักจะลาสึก เมื่อออกพรรษาแล้ว ถ้าผู้ใดสึกระหว่างเข้าพรรษา ก็กล่าวกันว่า แหกพรรษาตามนิยมแท้จริง หากรอไปจนรับผ้ากฐินแล้วจึงสึก ท่านว่ามีผลานิสงส์มาก เนื่องจากได้รู้เห็นในศาสนพิธี พร้อมกับได้ร่วมการนั้นๆด้วย ไม่เสียทีที่ได้บวชมา
เกณฑ์เข้าพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ส่วนแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น เป็นวันออกพรรษา และอยู่ในเกณฑ์รับกฐินเป็นต้นไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ จึงจะหมดเขตการทอดกฐิน ถ้าปีใดมีอธิกมาส(เดือนแปดสองหน) เกณฑ์เข้าพรรษาก็ต้องเลื่อนไปอีกเดือนหนึ่ง คือเริ่มแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง และไปออกพรรษาเอาวันแรม ๑ค่ำ เดือน ๑๑ เช่นเดียวกัน พิธีนี้จำต้องเลือกหาวันคืนที่ดีจริงๆ อย่าให้เป็นวันอุบาทว์ โลกาวินาศ หรือวันดิถีที่ไม่เป็นมงคล และวันจม เป็นต้น เวลาฤกษ์คือเวลาที่ชักผ้าสังฆาฎิออกนั้น เป็นเวลาอันสำคัญ ต้องให้โหรหรือผู้รู้การให้ฤกษ์ทางโหราศาสตร์เป็นผู้คำนวณให้ ขณะได้เวลาฤกษ์ ผู้จะสึกต้องนั่งหันหน้าไปสู่เบื้องมงคลทิศ เช่นทิศศรีของวันสึก ขณะเมื่อพระท่านจะชักผ้าสังฆาฏิออก ผู้สึกจะต้องตั้งสติอารมณ์ให้แน่วแน่ นึกหวังทางดีภายหน้าตามจิตปรารถนา ฉะนั้น เวลาของฤกษ์ตอนนี้จึงควรเป็นเวลาที่เงียบสงัด เพื่อมิให้จิตใจรู้สึกวอกแวกไม่ปรกติ ควรเป็นเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนล่วงแล้วไป ยิ่งจวนรุ่งสว่างได้ยิ่งดี หมดเขตนิยมไม่ควรเกิน ๘ นาฬิกา
อนึ่ง เมื่อสึกแล้วควรกำหนดฤกษ์เวลาเข้าบ้านด้วย ถ้ายังไม่มีฤกษ์งามยามดี ก็ให้อาศัยอยู่กับวัดไปก่อน รอจนกว่าจะถึงฤกษ์ดีจึงจะออกจากวัด ขณะจะออกจากวัด ให้หันหน้าไปสู่ทิศอันเป็นสิริมงคล ยืนสงบนิ่งกระทำจิตใจให้ผ่องแผ้วอยู่สักอึดใจหนึ่งก่อน แล้วจึงก้าวเท้าเดินไปทางทิศนั้นสัก ๓-๔ ก้าวพอเป็นพิธี ต่อจากนั้นจึงก้าวเดินไปทางทิศซึ่งจะไปยังเคหสถานบ้านเรือนตน
การลาบรรพชากรรม ตามประเพณีโบราณมามีแบบอย่างปฏิบัติกันตามลำดับพิธีดังต่อไปนี้ คือ:
๑)จัดการขอขมา
เมื่อกำหนดวันฤกษ์ดีคืนดีได้แล้ว ครั้นใกล้จะถึงกำหนดให้จัดเครื่องสักการบูชาไปขอขมาดังนี้
ก.ขอขมาเสมา จัดกรวยดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู ไปบูชาขอขมาเสมาที่หน้าพระอุโบสถ
ข.ขอขมาพระประธาน จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ไปขอขมาพระประธาน เครื่องสักการะเหล่านี้ให้อุทิศถวายแก่พระสงฆ์ ในเมื่อบูชาขอขมาพระประธานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ค.ขอขมาพระสงฆ์ จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดจนถึงพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือทุกองค์
๒) พิธีลาสิกขา
เมื่อถึงวันกำหนดฤกษ์ พึงเตรียมการจัดสถานที่ ตั้งที่บูชา นิมนต์พระ และจัดหาดอกไม้ ธูป เทียน ไว้ให้พร้อมเสร็จ นิมนต์พระสงฆ์มานั่งประชุมกัน ภิกษุผู้จะสึกพึงแสดงอาบัติให้ตัวบริสุทธิ์เสียก่อน แล้วเข้าไปหาพระมหาเถระ นั่งคุกเข่าลง หันหน้าตรงต่อพระพุทธรูป แล้วกราบโดยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง นั่งประนมมือ ว่านะโม ๓ จบ แล้วว่าอตีตปัจจเวกขณ์ทั้ง ๔ บท ว่าจบแล้วกราบลงอีก ๓ หน ต่อจากนี้ เมื่อได้เวลาฤกษ์พึงตั้งสติสำรวมใจให้แน่วแน่ กล่าวคำปฏิญาณที่จะละจากสมณเพศออกเป็นคฤหัสถ์ ทั้งคำบาลีและคำแปล คราวละรูปว่า สิกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าลาสิกขา คิหีติ มัง ธาเรถะ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ ว่า เป็นคฤหัสถ์แล้วดังนี้ ๓ ครั้ง
ลำดับนั้น พระมหาเถระท่านจะถามถึงเจตนาตามคำปฏิญญา เมื่อตอบตรงกันแล้ว ท่านก็จะจับผ้าสังฆาฏิออกจากบ่า ในขณะเมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์เริ่มสวดชัยมงคลคาถา(ชะยันโต...) ๑ จบ หรือ ๓ จบก็ได้ แล้วแต่กาลเทศะแล้วสวดภะวะตุ สัพพะมังคะลัง...ต่อท้าย เมื่อสวดจบแล้ว ผู้ลาสิกขากราบลง ๓ หน ออกไปผลัดผ้าเหลืองออก นุ่งผ้าขาวโจงกระเบนแทน (การผลัดผ้านี้ต้องระวัง คือให้เอาผ้าขาวสอดเข้าใต้ผ้าเหลือง  อย่าเอาผ้าขาวทับผ้าเหลือง) และห่มผ้าขาวอีกผืนหนึ่ง โดยวิธีห่มเฉวียงบ่า เข้าไปหาพระมหาเถระ กราบลง ๓ หน จึงยกบาตรน้ำมนต์ ออกไปตั้งยังที่ซึ่งเตรียมไว้ ตอนนั้นผู้ลาสิกขาต้องนั่งผินหน้าไปสู่เบื้องมงคลทิศ(ทิศศรีในวันนั้น) พระมหาเถระท่านนั้นจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้ เสร็จแล้วจึงผลัดผ้าและเข้ามากราบพระมหาเถระอีก พึงนั่งคุกเข่า ประนมมือ เปล่งวาจาขอพระไตรสรณาคมน์และศีล เพื่อแสดงตนเป็นอุบาสก ถ้ามีผู้สึกหลายคนก็ให้ว่าพ้อมกัน เมื่อรับศีลแล้วกราบลงอีก ๓ หน หากมีเครื่องไทยธรรมที่จะถวายก็ให้ถวายในตอนนี้
ครั้นแล้วพระมหาเถระท่านอนุโมทนา อุบาสกใหม่กรวดน้ำเมื่อพระขึ้นว่า ยถา...พอพระว่าถึงบทสัพพีติโยก็นั่งประนมมือรับพรจนจบ แล้วคุกเข่ากราบลงอีก ๓ หน จึงเป็นอันเสร็จพิธี

 ที่มา :

https://sites.google.com/site/thaireremonies/phithi-la-brrphcha-la-sikkha-hrux-la-suk