วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ


ทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ
(Culture and Personality Theory)

           นักคิดที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) และมาร์การ์เรต มี้ด (Margaret Mead) งานศึกษาชิ้นสำคัญของเบเนดิกต์ ชื่อ “Patterns of Culture” (1934) ศึกษาสังคมอเมริกัน-อินเดียน เน้นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมและการปรับตัวของปัจเจกบุคคล และได้เสนอความคิดเกี่ยวกับรูปลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Configuration) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถือว่าส่วนประกอบต่างๆของวัฒนธรรมมีลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และรวมเป็นหนึ่งเดียว เบเนดิกต์เชื่อว่าปัจเจกบุคคลและกระบวนการทางจิตวิทยาของปัจเจกบุคคลมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมด้วย

           ทฤษฎีนี้ใช้ได้ในการศึกษาสังคมสมัยใหม่ โดยศึกษาลักษณะประจำชาติ (National Character) ของสังคมต่างๆ เช่น อเมริกา ไทย ญี่ปุ่น ประเด็นที่พบจากการศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ บุคลิกภาพที่มีคุณค่าในสังคมหนึ่งอาจกลายเป็นความผิดปกติทางจิตหรือเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนในอีกสังคมหนึ่งก็ได้

           เอดเกอตัน (Edgerton) ได้ศึกษาชนเผ่าต่างๆ 4 เผ่าในแอฟริกาตะวันออก โดยแบ่งแต่ละเผ่าออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ (1) กลุ่มเกษตรกร (2) กลุ่มเลี้ยงสัตว์ โดยพบว่า ชนเผ่าทั้ง 4 ต่างมีความแตกต่างในบุคลิกภาพ และพบอีกว่ากลุ่มทั้งสองประเภทจากเผ่าเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย เช่น กลุ่มเลี้ยงสัตว์เป็นปัจเจกบุคคลมากกว่ากลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

           มี้ด ได้เขียนหนังสือชื่อ “Coming of Age in Samon” (1928) โดยชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะที่สำคัญของวัฒนธรรมส่วนรวมของชาวเกาะซามัวที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบ (Formalism) หรือการกำหนดพฤติกรรมอย่างเคร่งครัดแน่นอนตายตัว ทำให้ปัจเจกบุคคลมีทางเลือกน้อยลง

           โดยสรุปแล้วเนื้อหาสาระของทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับบุคลิกภาพ เพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมจะเป็นเครื่องมือช่วยในการปรับตัวของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันบุคลิกภาพก็อาจเป็นเครื่องช่วยให้วัฒนธรรมและสังคมดำรงอยู่ได้


http://www.baanjomyut.com/library_2/anthropolog/09.html

ไม่มีความคิดเห็น: