วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปางปฐมเทศนา หรือปางแสดงพระธรรมจักร








คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์


โดยปกติพระประธานในพระอุโบสถพุทธสถานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะประดิษฐานพระประธานในรูปแบบของปางสมาธิและปางมารวิชัยเป็นส่วนใหญ่

พระพุทธรูปปางอื่นๆ จึงมักจะประดิษฐานในพระวิหารบ้าง ในศาลาการเปรียญบ้าง หรือไม่ก็อยู่ในซุ้มของเจดีย์

ปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงพระธรรม จักรจึงมักจะเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารบ้าง อยู่ในซุ้มพระเจดีย์บ้าง

ปางปฐมเทศนานี้มีข้อสังเกตคือ พระหัตถ์ขวาจะยกขึ้นเสมออก จีบนิ้วเป็นวงกลม หมายถึงการหมุนเวียนที่เรียกว่า "ธรรมจักร" พระ พุทธรูปปางนี้จะต่างกับปางแสดงธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ยกพระหัตถ์ขึ้น 2 ข้าง แล้วจีบนิ้วมือทั้งสองข้างเป็นวงกลมซ้อนกัน

คติธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปปางนี้ก็คือ ธรรมอันสำคัญยิ่งที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

การกราบไหว้พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาก็คือการรับฟังคำสอน

ธรรมะสำคัญ อันเป็นธรรมะเรื่องแรกที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ฟัง ความหมายแห่งธัมมจักกัปปวัตนสูตรคือ การแสดงธรรมะ 4 ประการ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็น 3 รอบ คือ

รอบที่ 1 สิ่งที่เรียกว่า ทุกข์ ได้แก่สถานะใดบ้างที่เป็นทุกข์ ทุกข์จึงเป็นของที่ควรกำหนดรู้คือ ควรทำ ความเข้าใจในเรื่องทุกข์ให้ชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์

รอบที่ 2 ก็คือ เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ หรือหมายความว่าได้กำหนดรู้แล้ว ก็ควรจะละมันเสีย ซึ่งหมายความต่อไปว่า อะไรที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็ละสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

รอบที่ 3 เมื่อได้กำหนดรู้แล้วว่าอะไรเป็นทุกข์ ที่เรียกว่ากำหนดรู้ทุกข์แล้ว และก็ได้รู้ต่อไปว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ได้ละสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จะทำให้เข้าใจได้ว่า ได้รู้แจ้งในทุกข์ในเหตุของทุกข์ ละทุกข์ได้แล้ว และทำให้แจ้งชัดยิ่งขึ้นที่เรียกว่าเจริญ ทำได้ตลอดไป

ลักษณะของการรู้รอบทั้ง 3 ประการนั้นจะเกิดขึ้นในขณะจิตเดียว คือ รู้พร้อมกันทั้งหมดอย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ

นี่คือ ธรรมที่จะได้จากการเคารพกราบไหว้พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงพระ ธรรมจักร ที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

หน้า 6


http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNekk0TVRBMU5RPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1pMHhNQzB5T0E9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น: