วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ลอยโคมสะเดาะเคราะห์ บุญจุลกฐิน วัดศรีดอนมูล




วัดศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ จัดงานมหากุศลทอดจุลกฐินสามัคคีขึ้นทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 3 ตรงกับวาระสำคัญคือการฉลองพุทธชยันตีครบรอบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เหนือชัยชนะทั้งปวง 

?พระครูสิริศีลสังวร? หรือ ?ครูบาน้อย เตชปัญโญ? เจ้าอาวาส เป็นประธานในการบอกบุญพุทธศาสนิกชนร่วมงานมหากุศลทอดจุลกฐินสามัคคี สมทบทุนสร้างมหาวิหารหลวงรวมใจสามัคคี เพื่อเป็นอนุสรณ์วาระเฉลิมฉลองพุทธชยันตี และใช้สำหรับประกอบศาสนกิจในทางพระพุทธศาสนา เป็นที่เจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

กำหนดการวันศุกร์ที่ 2 พ.ย. เวลา 06.39 น. เก็บฝ้ายและนำฝ้ายไปถักทอเป็นผืนผ้าองค์กฐิน เวลา 16.00 น. ประธานแต่ละสายร่วมกันนำคณะแห่บริวารจุลกฐิน พิธีเสริมสิริมงคล พระพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ตามตำรับล้านนาโดยครูบาน้อย เตชปัญโญ เวลา 18.00 น. รับประทานอาหารขันโตก และชมศิลปวัฒนธรรมล้านนา พิธีลอยโคมสะเดาะเคราะห์ 
วันเสาร์ที่ 3 พ.ย.2555 เวลา 09.39 น. ครูบาน้อย เตชปัญโญ และพระสงฆ์ 19 รูป เจริญพระพุทธมนต์สืบชะตาหลวงแบบล้านนา ประกอบพิธีถวายจุลกฐินพร้อมจตุปัจจัยไทยธรรม เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์สามเณร คณะศรัทธาร่วมรับประทานอาหาร เวลา 13.00 น. ครูบาน้อย เตชปัญโญ และคณะศรัทธาร่วมกันถวายกฐินตกค้าง จำนวน 9 วัด และ ทอดผ้าป่าสามัคคีถวาย 2 วัด

กล่าวสำหรับประเพณีทอดกฐิน เป็นพิธีถวายผ้าพระสงฆ์ซึ่งจำพรรษามาตลอดไตรมาส 3 เดือน ระยะเวลาที่ทอดกฐินระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 กฐินเป็นคำบาลี แปลว่า กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเย็บจีวรของพระภิกษุ หรือที่เรียกว่า ?สะดึง? การที่ต้องใช้สะดึงเพราะการเย็บจีวรต้องตัดผ้าออกเป็นชิ้นๆ แล้วเอามาเย็บต่อกันเข้า ให้มีรูปเหมือนเนื้อที่ในนาปลูกข้าว สะดึงช่วยขึงผ้าให้ตึงเพื่อสะดวกในการเย็บผ้า

การทอดกฐินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่มหากฐินซึ่งเป็นกฐินอย่างง่าย คือนำผ้าที่สำเร็จแล้วไปถวายพระ กับจุลกฐิน เป็นการทอดกฐินอย่างยากสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือการเก็บฝ้ายมาปั่นกรอ และสางทำเป็นเส้นด้ายทอเป็นผ้า ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันเดียวถือว่าได้บุญกุศลมากภาคอีสานเรียกจุลกฐินว่ากฐินแล่น มีคำกล่าวเป็นคติความเชื่อสืบทอดกันมาว่าผู้ใดร่วมบุญจุลกฐินครบสามครั้งจะได้รับอานิสงส์อันมหาศาลไม่ทันได้ใช้อานิสงส์ให้หมดก็เข้าสู่พระนิพพาน
จุลกฐิน คือ การทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วนต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียวเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง

ดังนั้น โบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอดทน ความเพียรมากกว่ากฐินแบบธรรมดา จุลกฐินจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว

สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ความว่า ?ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน?

ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า ?กฐินแล่น? คัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวร

ครูบาน้อย พระเกจิอาจารย์เรืองนามแห่งล้านนาไทย ได้อนุรักษ์ประเพณีจุลกฐินเพื่อสนองกุศลเจตนาของสาธุชนได้มาร่วมบุญกุศลก่อให้เกิดความสามัคคีธรรม ร่วมมือกันทำคุณงามความดี การถวายกฐินมีส่วนร่วมในการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามด้วย

เจ้าภาพจุลกฐินจะได้รับวัตถุมงคลพระอุปคุตเพชรล้านนา กำไลเจ็ดต่อ มหามงคล กำไลไตรภาคีมหาลาภ กำไลต่อเงินต่อทอง ตะกรุดกาสะท้อน ขันน้ำมนต์พระอุปคุต

ผู้ร่วมงานทุกคนจะได้รับแจกวัตถุมงคลอุปคุตเพชรล้านนา ตำรับครูบาน้อยเป็นที่ระลึก


หน้า 24


ที่มา :
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdNakF6TVRFMU5RPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB3TXc9PQ==















ไม่มีความคิดเห็น: