วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
จุลกฐิน วัดไชยมงคล ชมหนังบักตื้อเมืองอุบลฯ
การทำจุลกฐินถือเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ด้วยต้องทำผ้าไตรด้วยมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกฝ้าย เก็บฝ้าย นำฝ้ายที่ได้มาดีดให้แตกตัว แล้วถึงนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ทอด้วยกี่กระตุกให้เป็นผืน แล้วเย็บเป็นผ้าไตรจีวร เพื่อนำไปถวายแด่ภิกษุสงฆ์ ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำจุลกฐิน
แต่การทำตามขั้นตอนตามที่กล่าวมา "ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว"
ดัง นั้นการจะเกิดจุลกฐินขึ้นได้ ต้องเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่ต้องมาช่วยกันทำ จะทำเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เหมือนการทอดกฐินทั่วไปคงทำไม่ได้ ปัจจุบันการทำจุลกฐิน จึงพบเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งประชาชน ยังมีความศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนา เพราะเชื่อว่าการทำจุลกฐินได้มหาบุญอันยิ่งใหญ่ และก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ที่ต้องร่วมมือกันทำ
สำหรับปีนี้ "วัดไชยมงคล" ซึ่งเป็นพระอารามตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมืองอุบลราชธานี เป็นชุมชนเมือง ทางวัดได้ดึงคนทุกเพศทุกวัยให้ออกมาร่วมใจกันสร้างจุลกฐินเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23-24 พ.ย. นี้
โดยในงานได้แบ่งซุ้มเป็นฐานต่างๆ เพื่อแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนที่มาร่วมงานทำอย่างถ้วนหน้า เพื่อได้บุญกุศลตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากซุ้มเก็บฝ้ายจนถึงขั้นตอนนำไปทอตัดเย็บแล้ว ก็ยังมีซุ้มทำอาหารพื้นเมือง ทั้งข้าวต้มมัด ซึ่งมีความหมายเป็นนัยในการมัดจิตใจเข้าหลอมรวมกัน ซุ้มข้าวจี่ ข้าวเม่า ข้าวโป่ง ข้าวหลามอาหารพื้นเมืองที่ผู้ร่วมงานกินได้ตลอดเวลา และซุ้มข้าวปุ้นน้ำปลาร้าอาหารยอดนิยมของคนอีสาน
วัดยังร่วมกับภาคี เครือข่ายคนเมืองอุบลราชธานี สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดรื้อฟื้นขนบประเพณีการละเล่นพื้นเมืองที่แทบจะหายไป จากวิถีชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งการเล่นรีรีข้าวสาร เดินกะลา เดินขาโถกเถก ขี่ม้าก้านกล้วย โยนหมากเก็บ เล่นตี่จับ และ งูกินหาง เพื่อให้เยาวชนที่มาร่วมงานรับสืบทอดวัฒน ธรรมการละเล่นแบบพื้นเมืองให้คงอยู่กับชุมชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ไม่สูญหายไปจากสังคมของโลกนี้
นอกจากการจัดกิจกรรมการละเล่นในอดีต ยังจัดแสดงดนตรีพื้นบ้าน เช่น หมอลำคู่ การรำผีฟ้าของชุมชนชาวเขมร รำผีไท้ผีแถน ของชุมชนชาวภูไท การขับร้องสรภัญญะ การแสดงหนังประโมทัย (หนังบักตื้อ) รวมทั้งการประดิษฐ์ใบตองเป็นขันหมากเบ็ง ฟังผู้เฒ่าเล่านิทาน การแสดงพระธรรมเทศนา 3 ธรรมาสน์ และตักบาตรพระกัมมัฏฐาน 109 รูป เพื่อเป็นสิริมงคลต่อตัวเองและครอบครัว
รวมทั้งร่วมกับสถาบันการ ศึกษาระดับมัธยมฯ และอุดม ศึกษานำเด็กนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนรู้วิธีการเก็บฝ้ายที่ได้อายุออกจากสมอฝ้ายที่แก่แล้ว นำมาคัดแยกเอาเมล็ดออก แล้วม้วนให้เป็นหลอด ปั่นฝ้ายให้เป็นไจ จึงนำไปทอตัดเย็บให้เป็นผืน แล้วย้อมด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งนักเรียนและผู้เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้การทำผ้าไตรจีวรในอดีตจากผู้ เฒ่าผู้แก่ที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสืบสานวัฒนธรรมการทำผ้าไตรจุลกฐินเป็นรุ่นต่อไป
สำหรับวัด ไชยมงคล เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นในลำดับที่ 4 ของวัดที่สังกัดธรรมยุติกนิกาย ระหว่างปี พ.ศ.2409-2425 โดยเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ นุสรณ์
เหตุของการสร้างวัดแห่งนี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานีขณะนั้น ยกกำลังไปปราบกบฏฮ่อที่นครเวียงจันทน์ประเทศลาว ซึ่งเป็นประเทศราชของประเทศไทย
เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์ จึงสั่งระดมพลรวมกองทัพบริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ก่อนยกกองทัพไปปราบกบฏฮ่อที่นครเวียงจันทน์เป็นผลสำเร็จ โดยขากลับได้มารวมพลในจุดเดิม จึงมีดำริจะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะในการปราบกบฏฮ่อ และเห็นว่าทำเลที่ตั้งทัพเหมาะแก่การก่อสร้าง จึงรวบรวมศรัทธาจากข้าราชบริพาร และชาวเมืองสร้างวัดไชยมงคลแห่งนี้ขึ้นมา และให้ชื่อวัดอันเป็นมงคลแห่งชัยชนะ
นอกจากนี้ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นุสรณ์ ยังอัญเชิญพระไพรีพินาศ ซึ่งได้จากการยกทัพไปปราบกบฏฮ่อที่นครเวียงจันทน์ มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำวัด พร้อมกราบอาราธนาเจ้าอธิการสีโห หรือท่านอัญญาสิงห์ จากวัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง มาเป็นเจ้าอาวาสวัดไชยมงคลรูปแรก
ปัจจุบันมีพระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 9 ของวัดแห่งนี้
หน้า 32
ที่มา :
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdNakl4TVRFMU5RPT0=§ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB5TVE9PQ==
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น