วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ย่ำ"นครย่างกุ้ง" วิถีพุทธ"โกเอ็นก้า"





 



ย่ำ"นครย่างกุ้ง" วิถีพุทธ"โกเอ็นก้า"
ศุภกร จันทร์ศรีสุริยะวงษ์

โกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์ชื่อดัง
ศาสนาพุทธเผยแผ่จากชมพูทวีปสู่สุวรรณภูมิ โดยเฉพาะพม่า ก็ได้รับการสืบทอดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้จะจำกัดอยู่ในวงแคบระหว่างอาจารย์-ศิษย์

แต่ปัจจุบันก็ถ่ายถอดวิถีการปฏิบัติไปทั่วโลก โดยอาจารย์ด้านวิปัสสนาคนสำคัญล่าสุดแห่งยุคสมัย คือ "โกเอ็นก้า" อดีตนักธุรกิจชาวอินเดียที่เกิดในพม่า ผู้สะสมความมั่งคั่งตามแบบฉบับนายทุนทั่วไป ที่มองเห็นโลกเป็นตลาดมีเพียงกำไรและขาดทุน

โอกาสที่ทำให้เขาได้พบกับวิถีธรรมนั้น เกิดจากการป่วยเป็นโรคไมเกรนที่รุนแรง และไม่อาจรักษาได้ โดยมี "อุบาขิ่น" อดีตข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลพม่า ที่ได้รับการถ่ายทอดแนวทางวิปัสสนาจาก "เท็ต" คฤหัสถ์ที่เป็นศิษย์ของ "เลดีซายาดอว์" ภิกษุผู้มากความสามารถทั้งด้านปริยัติ และปฏิบัติ เป็นผู้สอนฝึกวิปัสสนาหลักสูตร 10 วัน เพื่อเป็นหนทางแก่การหลุดพ้นจากความระทมของโรคเรื้อรัง

เนื่องด้วย โกเอ็นก้า ยึดในหลักคำสอนของพราหมณ์-ฮินดู การเริ่มต้นฝึกจึงเต็มไปด้วยคำถามทำนองว่า การวิปัสสนาคือวิธีการปฏิบัติของชาวพุทธ จะเกิดอะไรขึ้นหากวิธีการปฏิบัตินี้ทำให้เขาต้องละทิ้งศาสนาฮินดู หันมานับถือศาสนาพุทธ และคงต้องกลายเป็นพวกนอกรีต ที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นแน่ ก่อนจะสามารถพิสูจน์ได้ถึงความหลุดพ้นหลังจากจบหลักสูตร

"การปฏิบัติเพียง 10 วัน ได้เริ่มขจัดความไม่บริสุทธิ์ออกไปจากใจ ข้าพเจ้า จนความทุกข์เริ่มลดลง มันเป็นสิ่งที่มีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ และมีประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงความเชื่อที่งมงาย ซึ่งเราก็ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะมันเป็นคำสอนของอาจารย์ หรือของพุทธเจ้า หรือกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก จนกว่าเราจะได้พิจารณาไตร่ตรอง และประสบกับสิ่งนั้นด้วยตนเองแล้วเท่านั้น

วิปัสสนายังไปไกลกว่านั้น คือช่วยให้ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากปรัชญาที่แห้งแล้ง และการมีศรัทธาอย่างมืดบอด การยอมรับความเป็นจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช่วยให้ข้าพเจ้ามีความก้าวหน้ามากขึ้น" โกเอ็นก้า ย้อนอดีต

เมื่อรัฐบาลทหารเผด็จการพม่าปกครองประเทศ นำมาสู่การยึดธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้ชาวอินเดียที่ตั้งรกรากอยู่ไม่สามารถทำงานได้ จึงต้องหาหนทางกลับบ้าน

โกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ตามที่อาจารย์ "อุบาขิ่น" เชื่อมาเสมอว่า อินเดียมีบุญคุณต่อพม่าอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้ส่งต่อธรรมะอันบริสุทธิ์ของพุทธองค์มาให้ แต่ตอนนี้ธรรมะของต้นกำเนิดแห่งนั้นเกือบหมดสิ้นไป


1.มหาเจดีย์ชเวดากอง
2.-3.นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมที่ลานมหาเจดีย์ชเวดากอง
4.มีผู้เข้าฟังจำนวนมาก
5.วิชชา กลิ่นประทุม
6.ลูกศิษย์จากประเทศไทย

โกเอ็นก้าจึงหาทางนำรัตนะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง ผ่านการจัดอบรมวิปัสสนา เริ่มต้นจากแม่และญาติพี่น้อง ก่อนขยายหลักสูตรวิปัสสนาไปทั่วโลก

พร้อมทั้งเป็นตัวกลางระดมทุนสร้าง "เจดีย์วิปัสสนาสากล" รองรับนักปฏิบัติธรรมได้ราว 15,000 คน ขึ้นที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยจำลองแบบมาจาก "มหาเจดีย์ ชเวดากอง" ของ พม่า พร้อมอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ ยอดโดม

ล่าสุด โกเอ็นก้า ในวัย 87 ปี มีโอกาสธรรมยาตราหวนคืนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง พร้อมด้วยสานุศิษย์หลายพันคน ทั้งชาวพม่า ไทย อินเดีย และอีกหลายชาติ มุ่งหน้าสู่ "นครย่างกุ้ง" อดีตเมืองหลวงพม่า เพื่อมาร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรตามแนวทางวิปัสสนา

โดยใช้พื้นที่ของลานมหาเจดีย์ชเวดากอง เริ่มตั้งแต่รุ่งสาง พอช่วงพลบค่ำ โกเอ็นก้า ก็บรรยายปาฐกถาธรรม ที่โรงละครแห่งชาติย่างกุ้ง พุทธศาสนิกชนจำนวนมากแห่เข้าฟังจนแน่นขนัด ต้องเสริมเก้าอี้อีกหลายพันตัว

โกเอ็นก้า ปาฐกถาธรรมตอนหนึ่งว่า

"เราไม่เคยบอกใครว่า ให้มาอบรมแล้วท่านจะหายจากโรคนั้นโรคนี้ เราไม่ได้วิปัสสนาเพื่อรักษาโรค ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่าเมื่อจิตของท่านบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ชีวิตของท่านก็จะมีความสุขสงบมากขึ้น ราบรื่นมากขึ้น สิ่งอื่นๆ เช่น การหายจากโรคเป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมาย

เป้าหมายหลักของการวิปัสสนา เราย้ำอยู่เสมอว่าการวิปัสสนาจะทำให้ท่านมีสุขภาพจิตที่ดี จิตใจของท่านจะสงบเย็น ท่านจะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ราบรื่น มีความสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกในครอบครัว มีความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ ในสังคม ดังนั้น วิปัสสนาจึงเป็นวิถีในการดำเนินชีวิต

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การวิปัสสนาได้รับการเผยแผ่ ก็เพราะเราประกาศว่าไม่ได้ต้องการเปลี่ยนผู้ที่นับถือศาสนาหนึ่งให้หันมานับถืออีกศาสนาหนึ่ง ท่านจะเรียกตัวเองว่าอะไรก็ได้ จะเป็นชาวฮินดู พุทธ คริสต์ หรือ มุสลิม ก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าท่านวิปัสสนา ท่านก็กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่องมงาย คำสอนทางศาสนา หรือลัทธินิกายทั้งปวง

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในวิธีการปฏิบัตินี้ และพวกเขาพบว่าเมื่อเข้ารับการอบรม พวกเขาได้รับประโยชน์ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ ให้ผลได้ในปัจจุบัน วิธีการปฏิบัตินี้ให้ผลเป็นที่ประจักษ์ชัด ไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้า วิธีการปฏิบัตินี้เป็นสากล ไม่ว่าใครก็สามารถได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น" ปาฐกถาของวิปัสสนาจารย์ชื่อดังระดับโลก


1.โกเอ็นก้า และภรรยา ใส่บาตร
2.โกเอ็นก้า ปาฐกถาธรรม ณ โรงละครแห่งชาติย่างกุ้ง
3.สำนักวิปัสสนาธรรมโชติ นครย่างกุ้ง

ด้วยการมองเห็นหนทางดับทุกข์อันเกิดจากกายและจิตของพุทธองค์ เป็นสิ่งสากลสำหรับมวลมนุษยชาติ จึงทำให้วิถีปฏิบัตินี้เผย แผ่ไปยังผู้คนต่างศาสนาตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ส่วนประเทศไทยเองนั้น อาจารย์โกเอ็นก้า เดินทางมาครั้งแรกที่ เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนมี.ค. 2530

จากนั้นจึงก่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรม "ธรรมกมลา" ขึ้นที่ จ.ปราจีนบุรี ก่อนที่ "ดอกบัวแห่งธรรม" นี้ จะเบ่งบานไปอีกทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ

คือ ศูนย์ธรรมกมลา จ.ปราจีนบุรี, ศูนย์ธรรมกาญจนา จ.กาญจนบุรี, ศูนย์ธรรมธานี กทม., ศูนย์ธรรมโปราโณ จ.นครศรีธรรมราช, ศูนย์ธรรมสีมันตะ จ.ลำพูน, ศูนย์ธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น, ศูนย์ธรรมอาภา จ.พิษณุโลก และศูนย์ธรรมจันทปภา จ.จันทบรี และกำลังก่อสร้างศูนย์ธรรมปุเนติ จ.อุดรธานี  ปัจจุบันมีลูกศิษย์รวมกันกว่า 10,000 คน

"ผู้เข้าอบรมจะเริ่มต้นด้วยการทำอานาปานสติ สังเกตลมหายใจเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติไม่มีการกำหนดใด เพราะหากกำหนดลมหายใจร่วมกับความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การปฏิบัติก็จะกลายเป็นการชอบที่มาจากการเลือกเฟ้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องเฝ้าสังเกตความเป็นจริงของลมหายใจ ที่สัมพันธ์กับจิตตามธรรม ชาติที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้

เมื่อผู้ปฏิบัติรับรู้ได้ถึงลมหายใจที่สัมผัสกับร่างกาย ก็จะได้รับรู้ถึงเวทนา หรือความรู้สึกทางกายต่างๆ เป็นการสังเกตความจริงของเวทนาอย่างไม่มีการเลือกเฟ้น โดยผู้ปฏิบัติเพียงแค่สังเกตความเป็นจริงจากในระดับหยาบ ไปสู่ระดับที่ละเอียดขึ้น จนถึงขั้นละเอียดที่สุด ผ่านการสังเกตเวทนาตามอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่ตนเองอยากให้เป็น" นายวิชชา กลิ่นประทุม อาจารย์ผู้ช่วยประจำศูนย์ของโกเอ็นก้า กล่าว

นายวิชชาบอกด้วยว่า การฝึกปฏิบัติที่เกิดจากสังเกตตนเองโดยไม่สร้างภาพ นึกคิด หรือใช้จินตนาการใดๆ กล่าวคือเป็นการสังเกตความจริงจากประสบการณ์ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างร่างกายของคนๆ นั้นโดยตรง และผู้วิปัสสนาจะต้องให้ความสำคัญต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นขณะปัจจุบัน และเมื่อมันผ่านไปแล้ว ก็จะไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป โดยเวทนาในปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นความจริง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องพบกับสัจธรรมของความเปลี่ยนแปลง โดยตัวเราเป็นเพียงแค่ผู้เฝ้าดูเท่านั้น

"หลังปฏิธรรม มีคนขับรถปาดหน้า จนรถคันนั้นเลยไป ถึงเพิ่งนึกได้ว่าเราต้องโกรธ เพราะสันดานเดิมเป็นคนอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเรานั่งพูดกับตัวเองว่าต้องไม่โกรธ ต้องไม่โกรธ แต่มันคือการที่จิตเข้าสู่ความเป็นอุเบกขาอย่างอัตโนมัติ

ผมปฏิบัติมา 12 ปีกว่า มันคือสิ่งที่ทำให้เราดีขึ้นทุกวันๆ ปฏิบัติด้วยจิตจะต่างจากปฏิบัติด้วยสมองที่ต้องใช้ความคิด เนื่องจากเรายังเป็นมนุษย์ที่ยังมีกระบวนการคิดอยู่บนพื้นฐานของตรรกะ แต่ถ้าจิตมีความรู้แล้วได้ปฏิบัติ มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด อย่างที่อาจารย์โกเอ็นก้าบอกว่า นอกเหตุ เหนือผล" ลูกศิษย์โกเอ็นก้า กล่าว

รวมทั้ง นางวรัตดา ภัทโรดม นักการตลาดที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็ว ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ยึดถือการวิปัสสนาตามแนวทางโกเอ็นก้า ร่วมเล่าประสบการณ์ว่า วิธีการของท่านโกเอ็นก้าเหมาะสำหรับคนที่ไม่เชื่ออะไรเลย ชุดสามารถใส่สีอะไรก็ได้ ไม่ต้องสวดมนต์ เพราะส่วนตัวก็มีปัญหากับการสวดมนต์ เนื่องจากไม่มีคำแปล อย่างกางเกงก็เอาไปทุกสีอยากรู้ว่าใส่สีเขียว สีเหลือง สีชมพู สีแดง แล้วจะมีผลกระทบอะไรต่อการปฏิบัตธรรมหรือไม่ จากที่ปฏิบัติมา 10 ปีกว่า ก็พบว่าสีขาวไม่ได้ช่วยให้การปฏิบัติธรรมดีขึ้น

"อาจารย์โกเอ็นก้าไม่ได้สอนทฤษฎี แต่สอนการปฏิบัติ ฉะนั้น บางทีมีคนถามว่าอุเบกขาทำอย่างไร ก็ตอบไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร จะเรียกว่าการปล่อยวางได้หรือไม่ก็ยังไม่ใช่ เช่น ตอนโกรธ เราต้องไม่สร้างอารมณ์ให้เราโกรธอย่างต่อเนื่อง แล้ววันหนึ่งเราจะไม่โกรธ

อาจารย์ไม่ได้สอนถึงการหลุดพ้น เพราะเมื่อเราไปถาม ท่านจะบอกเพียงอย่าไปสนใจ พร้อมกับหลับตาแล้วหันหน้าหนี ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ไม่ควรคิดอย่างนั้น เพราะทางกลับกันมันจะทำให้อัตตาเราเพิ่มขึ้น" อีกลูกศิษย์โกเอ็นก้า กล่าว

ปัจจุบันลูกศิษย์ของ "โกเอ็นก้า" มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งวิถีของอาจารย์วิปัสสนาท่านนี้ นับเป็นอีกหลักง่ายๆ ที่จะเข้าสู่หลักธรรมคำสอนของพุทธองค์

ที่มา :
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?
newsid=TUROamIyd3dNVEl3TURJMU5nPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE15MHdNaTB5T
UE9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น: