วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

สวนโมกข์ - วัดอนุสาวรีย์

สวนโมกข์กำลังมีปัญหา เพราะเจ้าอาวาสใหม่อยากจะก่อสร้างถาวรวัตถุสถานขึ้นใหม่ในส่วนต่างๆ ของสวนโมกข์... ตามสำนวนพระสมัยใหม่คืออยาก "พัฒนา" วัด
อุบาสกอุบาสิกาจำนวนมาก ทั้งใกล้และไกล พากันออกมาคัดค้านผ่านสื่อบนเน็ตให้เซ็งแซ่ ประเด็นที่ค้านคือสวนโมกข์ไม่ใช่วัดธรรมดา จะเที่ยวก่อสร้างอะไรให้เกะกะก็จะผิดจากวิสัยทัศน์ของท่านพุทธทาส ซึ่งมองวัดในพระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสงบเย็น ทั้งทางกายและใจ จำเป็นต้องรักษาสวนโมกข์ให้ใกล้เคียงกับจุดประสงค์ของท่านให้มากที่สุด
สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดในข้อพิพาทครั้งนี้ก็คือ สวนโมกข์ไม่ใช่วัดธรรมดาจริงเสียด้วย เพราะมีผู้ศรัทธาและผูกพันกับวัดกว้างขวางกว่าวัดทั่วไป แทบจะพูดได้ว่ากว้างขวางทั่วประเทศทีเดียว
อันที่จริงข้อนี้จะว่าแปลกอย่างโดดเด่นทีเดียวก็ไม่เชิงนัก วัดที่มี "เครือข่าย" กว้างขวางทั่วประเทศอื่นก็มีอีก เช่นวัดบ้านไร่ของหลวงพ่อคูณเป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ "เครือข่าย" มักผูกพันอยู่กับ "หลวงพ่อ" มากกว่ากับวัด เมื่อหลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว วัดนั้นก็ไม่ดึงดูดผู้คนเหมือนเดิมอีก ดังเช่นหลังจากหลวงปู่แหวนมรณภาพ วัดดอยแม่ปั๋งที่พร้าวก็ร่วงโรยไป
ความผูกพันระหว่างวัดกับชาวบ้านนั้นมีมาแต่โบราณ เพราะวัดเป็นสมบัติของชาวบ้าน "หลวงพ่อ" เสียอีกมีความสำคัญไม่เท่าวัด เมื่อท่านมรณภาพหรือสึกหาลาเพศออกไป ชาวบ้านก็ไม่ทิ้งวัดของตน ยังบำรุงรักษาเหมือนเป็นสมบัติของตนเองต่อไป
เพิ่งมาหลัง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ 2451 นี่เท่านั้น ที่วัดของชาวบ้านถูกรัฐยึดเอาไปเป็นของรัฐฝ่ายเดียว ความรู้สึกผูกพันกับวัดเหมือนเป็นสมบัติของชุมชนจึงเริ่มจืดจางไปตั้งแต่นั้น
ข้อนี้แหละที่ทำให้สวนโมกข์แตกต่างจากวัดทั่วไป เพราะแม้เมื่อหลวงพ่อพุทธทาสมรณภาพไปแล้ว สวนโมกข์ยังมี "ชุมชน" ของตนเองที่ยังผูกพันอยู่กับวัด คอยกำกับควบคุมความเป็นไปต่างๆ นานาของวัดสืบมา
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะสวนโมกข์เป็นวัดอนุสาวรีย์
ไม่มีใครไปสวนโมกข์โดยไม่รู้จักท่านพุทธทาส หรือคงไม่มีใครพูดถึงสวนโมกข์โดยไม่เกี่ยวอะไรกับท่านพุทธทาสเลย สวนโมกข์คือท่านพุทธทาสอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ สวนโมกข์เป็นอนุสาวรีย์ของท่านพุทธทาส
วัดอนุสาวรีย์นั้นมีในเมืองไทยมานานแล้วเช่นกัน วัดบวรฯ ก็เป็นอนุสาวรีย์ของวชิรญาณภิกขุ ผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ซ้ำยังเป็นที่บวชเรียนของเจ้านายสายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีตำหนักที่ประทับซึ่งยังคงรักษาสืบมาถึงทุกวันนี้
วัดโพธิ์ก็เป็นวัดอนุสาวรีย์ในอีกแง่หนึ่ง คือเป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ ที่สร้างสั่งสมกันมาโดยพระเจ้าแผ่นดินหลายรัชกาล มีสิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นตัวแทนของอารยธรรมในสมัยนั้นๆ เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันหลายอย่าง
ในวัดอนุสาวรีย์ ไม่มีใครคิดไปรื้อหรือ "พัฒนา" อะไรใหม่ๆ ลงไปแทนของเก่า ลองคิดดูว่าหากวัดโพธิ์คิดจัดสวนใหม่ โดยรื้อรูปฤๅษีดัดตนออกหมด หรือวัดบวรฯ รื้อพระตำหนักปั้นหยาลง เพื่อสร้างอาคารใหม่ให้สวยงามกว่าเก่า จะโวยวายกันขนาดไหน
แบบแผนการปฏิบัติต่อวัดอนุสาวรีย์คือรักษาสภาพเดิมให้คงอยู่ต่อไป หากชำรุดผุพังลงก็ต้องบูรณะใหม่ให้เหมือนเดิมเท่านั้น แบบแผนอนุรักษ์วัดอนุสาวรีย์เช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ ทำกันมาในประเทศไทยนานแล้ว จะมีข้อแตกต่างอยู่บ้างก็คือ วัดอนุสาวรีย์ทั้งหมดเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินสร้างขึ้น หรือวัดเจ้านาย ในขณะที่สวนโมกข์เป็นวัดสามัญชน และท่านพุทธทาสก็เป็นสามัญชน
วัดอนุสาวรีย์ของสามัญชนก็ไม่ใช่ไม่มีเสียเลย แต่ไม่สู้ตรงกับสวนโมกข์นัก เช่นวัดป่าธรรมยุติสายพระอาจารย์มั่นและศิษย์ อย่างน้อยส่วนใหญ่ของวัดเหล่านั้น ก็ยังรักษา "ป่า" เอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ แม้มีการสร้างพระเจดีย์หรืออาคารใหญ่โตพิสดารปะปนอยู่ในบางพื้นที่ ทั้งนี้เพราะพระอาจารย์มั่นท่านฝึกศิษย์หาในป่า ประวัติของท่านที่เน้นการเผยแผ่พระธรรมแก่ชาวบ้านครองเรือนมีไม่สู้มากนัก (ศิษย์หาของท่านมีคำสอนเช่นนี้มากกว่า และมักเน้นไปทางด้านการต่อต้าน "ผี" ต่างๆ ที่ชาวบ้านนับถือ) จึงดูเหมือนท่านเน้นการฝึกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุให้บรรลุธรรมขั้นสูงมากกว่า ด้วยเหตุดังนั้น วัดอนุสาวรีย์ของท่านจึงไม่อาจแสดงตัวท่านผ่านรูปแบบทางกายภาพของวัดได้มากนัก
วัดอนุสาวรีย์ของพระอาจารย์มั่นและศิษย์ จึงเป็นเครื่องรำลึกถึงบุคคลซึ่งเชื่อกันว่าได้บรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว เช่นเป็นที่เก็บอัฏฐบริขาร หรือธาตุ หรือรูปปั้น ของท่านเหล่านั้นเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่สวนโมกข์เป็นอนุสาวรีย์ที่แตกต่างมาก สวนโมกข์เป็นอนุสาวรีย์ของท่านพุทธทาสก็จริง แต่ไม่ใช่ท่านพุทธทาสในฐานะบุคคลเท่ากับท่านพุทธทาสที่เป็นตัวแทนคำสอนหรือการตีความพระพุทธศาสนาแบบหนึ่ง เช่นสระนาฬิเกไม่เกี่ยวอะไรกับตัวท่านในฐานะบุคคลเลย โรงมหรสพทางวิญญาณก็ไม่เกี่ยว โบสถ์บนเขาพุทธทองก็ไม่เกี่ยว แม้แต่ไก่และสุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้ที่กุฏิก็ไม่เกี่ยว (หรืออย่างน้อยไม่เกี่ยวเป็นสำคัญ) เพราะการเลี้ยงสัตว์ของท่านเตือนผู้คนที่ผ่านพบให้ระลึกถึงความเมตตากรุณาอันไร้ขอบเขต รำลึกถึงความเท่าเทียมระหว่างชีวิตอื่นกับชีวิตคน (เพราะท่านมักเปรียบพฤติกรรมสัตว์ให้คนใช้เป็นแบบอย่างอยู่เสมอ) ฯลฯ
(และถ้าใครที่บริหารสวนโมกข์แล้ว ไปปั้นไก่และสุนัขไว้หน้ากุฏิเพื่อให้รู้ว่าท่านพุทธทาสเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ก็ดูจะพลาดเป้าแห่งอนุสาวรีย์สวนโมกข์ไปถนัด... เหมือนกับที่อยากเปลี่ยนชื่อสวนโมกข์กลับไปเป็นวัดธารน้ำไหล อันที่จริงจะชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ แต่ชื่อสวนโมกข์เป็นอนุสรณ์ให้นึกถึงหลักของท่านพุทธทาสว่า โมกขธรรมอยู่กับตัวเรานี้เอง เพียงแต่ต้องใช้กำลังในทางที่ถูกเพื่อค้นหา)
ความเป็นวัดอนุสาวรีย์ของสวนโมกข์จึงไม่สู้จะเหมือนวัดอนุสาวรีย์อื่นๆ เพราะไม่ได้มุ่งจะให้รำลึกถึงบุคคลเท่ากับเป็นเครื่องรำลึกถึงพระธรรม (ตามการตีความของท่านพุทธทาส) อาคารหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายนอกจากไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเป็นเครื่องหมายแห่งกิน กาม เกียรติ ซึ่งท่านพุทธทาสเห็นเป็นกับดักอันใหญ่ของอารยธรรมปัจจุบัน ที่รัดรึงให้คนเข้าไม่ถึงพระธรรม
อาคารใหญ่ของสวนโมกข์คือมหรศพทางวิญญาณ ไม่ได้มีไว้อวด แต่มีไว้สำหรับยังประโยชน์แก่มหาชน เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธธรรมได้ง่าย และในแง่สถาปัตยกรรมก็ไม่หรูหราอะไร ในแง่ศิลปะก็ดูจะน่าเกลียดไปหน่อยด้วยซ้ำ แต่ใช้ประโยชน์ตามความมุ่งหวังได้เต็มที่
ยิ่งคิดแต่ความสวยงามหรูหราเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมสวนโมกข์มากๆ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะนั่นคือกิน กาม เกียรติ โดยตรงทีเดียว
การทำนุบำรุงสวนโมกข์จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะสวนโมกข์เป็นอนุสาวรีย์ของธรรม (อย่าเล่นสำนวนเชิงกะล่อนว่า ถ้ากระนั้นธรรมก็ตายแล้ว) ไม่ใช่อนุสาวรีย์ของบุคคลซึ่งย่อมต้องมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา
ว่ากันให้ถึงที่สุด ท่านพุทธทาสจะอยู่หรือตายก็ไม่สำคัญเท่ากับพระธรรมตามการตีความของท่านซึ่งน่าจะอยู่ต่อไป และสวนโมกข์ควรเป็นการดำรงอยู่เชิงรูปธรรมของคำสอนของท่านตลอดไป ที่พูดกันว่า "พุทธทาสไม่มีวันตาย" ก็มีความหมายถึงคำสอน เพราะท่านพุทธทาสซึ่งมีฉายาว่าเงื่อม อินทปัญโญได้ตายไปแล้วเห็นๆ พุทธทาสที่ไม่มีวันตายจึงไม่ได้หมายถึงบุคคล แต่หมายถึงคำสอนของท่านต่างหาก
การ "พัฒนา" ที่ตื้นเขินซึ่งจะกระทำต่อสวนโมกข์จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เจ้าคณะตำบล, เจ้าคณะอำเภอ, เจ้าคณะจังหวัด, เจ้าคณะภาค, จนถึงมหาเถรสมาคมจะอยู่เฉยด้วยความคิดว่าวัดใครวัดมันไม่ได้ ต้องเข้ามาว่ากล่าวตักเตือนให้เจ้าอาวาสเข้าใจว่า สวนโมกข์เป็นวัดแบบไหน และการพัฒนาสวนโมกข์ที่ถูกต้องคือรักษาสภาพที่เป็นประจักษ์พยานของคำสอนท่านพุทธทาส ไม่ใช่ความแวววาวของทองคำเปลวอย่างการ "พัฒนา" วัดโดยทั่วไป
ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเรียกหา "อำนาจ" มาแก้ปัญหา แต่จะถูกหรือผิดก็ตาม "อำนาจ" นั้นมีอยู่จริง อย่างน้อยก็ตาม พ.ร.บ. ฉะนั้น "อำนาจ" นั้นจึงต้องทำหน้าที่ของตนอย่างมีสติปัญญา จะสักแต่ตั้งอยู่เป็นเกียรติยศลอยๆ ไม่ได้
ไม่ใช่เพียงแต่สวนโมกข์เท่านั้น มหาเถรสมาคมควรเข้าใจด้วยว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน วัดมีความหลากหลายกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก มีวัดที่เน้นการปฏิบัติธรรม วัดที่รับใช้ชุมชนใกล้เคียง วัดของหลวงพ่อดัง วัดที่เป็นฐานของการเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นธรรมกาย วัดแบบรีสอร์ตให้คุณหญิงคุณนายไปสงบสติอารมณ์ ฯลฯ การ "พัฒนา" วัดจึงมีหลายรูปแบบ แม้แต่รูปแบบทางกายภาพของวัดก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ระเบียบเกี่ยวกับวัดควรมีความหลากหลายและละเอียดอ่อนตามภารกิจของวัด และตามทรรศนะของอุบาสกอุบาสิกาซึ่งเป็นอุปฐากวัด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้ความชำนาญ (ซึ่งควรหาจากภายนอกองค์กรคณะสงฆ์ด้วย) ที่จะให้คำแนะนำแก่การ "พัฒนา" วัดในรูปแบบที่หลากหลาย ให้เหมาะกับวัดซึ่งจะยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นในด้านภารกิจหลัก ทั้งนี้ นับเป็นการปรับการบริหารคณะสงฆ์ให้เหมาะแก่กาลสมัยไปพร้อมกัน

(ที่มา:มติชนรายวัน 16 ก.ย.2556)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1379330286&grpid=01&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น: