วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พิธีลาบรรพชา(ลาสิกขา หรือ ลาสึก)




พิธีลาบรรพชา(ลาสิกขา หรือ ลาสึก)

การสึก ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญอย่างยิ่งในชีวิต เพราะการลาจากสมณเพศมาเป็นคฤหัสถ์นั้น ก็เพื่อหวังการตั้งตัวในฐานะที่จะเป็นผู้ครองคฤหาสน์(พ่อบ้าน) ต่อไป เท่ากับเอากำเนิดใหม่ในชีวิตบั้นปลายปฐมวัย จึงจำต้องเลือกทำกันในวันที่มีฤกษ์งามยามดี สำหรับเดือนนั้นไม่ห้าม จะใช้เดือนใดก็ได้ ธรรมดามักจะลาสึก เมื่อออกพรรษาแล้ว ถ้าผู้ใดสึกระหว่างเข้าพรรษา ก็กล่าวกันว่า แหกพรรษาตามนิยมแท้จริง หากรอไปจนรับผ้ากฐินแล้วจึงสึก ท่านว่ามีผลานิสงส์มาก เนื่องจากได้รู้เห็นในศาสนพิธี พร้อมกับได้ร่วมการนั้นๆด้วย ไม่เสียทีที่ได้บวชมา
เกณฑ์เข้าพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ส่วนแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น เป็นวันออกพรรษา และอยู่ในเกณฑ์รับกฐินเป็นต้นไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ จึงจะหมดเขตการทอดกฐิน ถ้าปีใดมีอธิกมาส(เดือนแปดสองหน) เกณฑ์เข้าพรรษาก็ต้องเลื่อนไปอีกเดือนหนึ่ง คือเริ่มแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง และไปออกพรรษาเอาวันแรม ๑ค่ำ เดือน ๑๑ เช่นเดียวกัน พิธีนี้จำต้องเลือกหาวันคืนที่ดีจริงๆ อย่าให้เป็นวันอุบาทว์ โลกาวินาศ หรือวันดิถีที่ไม่เป็นมงคล และวันจม เป็นต้น เวลาฤกษ์คือเวลาที่ชักผ้าสังฆาฎิออกนั้น เป็นเวลาอันสำคัญ ต้องให้โหรหรือผู้รู้การให้ฤกษ์ทางโหราศาสตร์เป็นผู้คำนวณให้ ขณะได้เวลาฤกษ์ ผู้จะสึกต้องนั่งหันหน้าไปสู่เบื้องมงคลทิศ เช่นทิศศรีของวันสึก ขณะเมื่อพระท่านจะชักผ้าสังฆาฏิออก ผู้สึกจะต้องตั้งสติอารมณ์ให้แน่วแน่ นึกหวังทางดีภายหน้าตามจิตปรารถนา ฉะนั้น เวลาของฤกษ์ตอนนี้จึงควรเป็นเวลาที่เงียบสงัด เพื่อมิให้จิตใจรู้สึกวอกแวกไม่ปรกติ ควรเป็นเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนล่วงแล้วไป ยิ่งจวนรุ่งสว่างได้ยิ่งดี หมดเขตนิยมไม่ควรเกิน ๘ นาฬิกา
อนึ่ง เมื่อสึกแล้วควรกำหนดฤกษ์เวลาเข้าบ้านด้วย ถ้ายังไม่มีฤกษ์งามยามดี ก็ให้อาศัยอยู่กับวัดไปก่อน รอจนกว่าจะถึงฤกษ์ดีจึงจะออกจากวัด ขณะจะออกจากวัด ให้หันหน้าไปสู่ทิศอันเป็นสิริมงคล ยืนสงบนิ่งกระทำจิตใจให้ผ่องแผ้วอยู่สักอึดใจหนึ่งก่อน แล้วจึงก้าวเท้าเดินไปทางทิศนั้นสัก ๓-๔ ก้าวพอเป็นพิธี ต่อจากนั้นจึงก้าวเดินไปทางทิศซึ่งจะไปยังเคหสถานบ้านเรือนตน
การลาบรรพชากรรม ตามประเพณีโบราณมามีแบบอย่างปฏิบัติกันตามลำดับพิธีดังต่อไปนี้ คือ:
๑)จัดการขอขมา
เมื่อกำหนดวันฤกษ์ดีคืนดีได้แล้ว ครั้นใกล้จะถึงกำหนดให้จัดเครื่องสักการบูชาไปขอขมาดังนี้
ก.ขอขมาเสมา จัดกรวยดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู ไปบูชาขอขมาเสมาที่หน้าพระอุโบสถ
ข.ขอขมาพระประธาน จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ไปขอขมาพระประธาน เครื่องสักการะเหล่านี้ให้อุทิศถวายแก่พระสงฆ์ ในเมื่อบูชาขอขมาพระประธานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ค.ขอขมาพระสงฆ์ จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดจนถึงพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือทุกองค์
๒) พิธีลาสิกขา
เมื่อถึงวันกำหนดฤกษ์ พึงเตรียมการจัดสถานที่ ตั้งที่บูชา นิมนต์พระ และจัดหาดอกไม้ ธูป เทียน ไว้ให้พร้อมเสร็จ นิมนต์พระสงฆ์มานั่งประชุมกัน ภิกษุผู้จะสึกพึงแสดงอาบัติให้ตัวบริสุทธิ์เสียก่อน แล้วเข้าไปหาพระมหาเถระ นั่งคุกเข่าลง หันหน้าตรงต่อพระพุทธรูป แล้วกราบโดยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง นั่งประนมมือ ว่านะโม ๓ จบ แล้วว่าอตีตปัจจเวกขณ์ทั้ง ๔ บท ว่าจบแล้วกราบลงอีก ๓ หน ต่อจากนี้ เมื่อได้เวลาฤกษ์พึงตั้งสติสำรวมใจให้แน่วแน่ กล่าวคำปฏิญาณที่จะละจากสมณเพศออกเป็นคฤหัสถ์ ทั้งคำบาลีและคำแปล คราวละรูปว่า สิกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าลาสิกขา คิหีติ มัง ธาเรถะ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ ว่า เป็นคฤหัสถ์แล้วดังนี้ ๓ ครั้ง
ลำดับนั้น พระมหาเถระท่านจะถามถึงเจตนาตามคำปฏิญญา เมื่อตอบตรงกันแล้ว ท่านก็จะจับผ้าสังฆาฏิออกจากบ่า ในขณะเมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์เริ่มสวดชัยมงคลคาถา(ชะยันโต...) ๑ จบ หรือ ๓ จบก็ได้ แล้วแต่กาลเทศะแล้วสวดภะวะตุ สัพพะมังคะลัง...ต่อท้าย เมื่อสวดจบแล้ว ผู้ลาสิกขากราบลง ๓ หน ออกไปผลัดผ้าเหลืองออก นุ่งผ้าขาวโจงกระเบนแทน (การผลัดผ้านี้ต้องระวัง คือให้เอาผ้าขาวสอดเข้าใต้ผ้าเหลือง  อย่าเอาผ้าขาวทับผ้าเหลือง) และห่มผ้าขาวอีกผืนหนึ่ง โดยวิธีห่มเฉวียงบ่า เข้าไปหาพระมหาเถระ กราบลง ๓ หน จึงยกบาตรน้ำมนต์ ออกไปตั้งยังที่ซึ่งเตรียมไว้ ตอนนั้นผู้ลาสิกขาต้องนั่งผินหน้าไปสู่เบื้องมงคลทิศ(ทิศศรีในวันนั้น) พระมหาเถระท่านนั้นจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้ เสร็จแล้วจึงผลัดผ้าและเข้ามากราบพระมหาเถระอีก พึงนั่งคุกเข่า ประนมมือ เปล่งวาจาขอพระไตรสรณาคมน์และศีล เพื่อแสดงตนเป็นอุบาสก ถ้ามีผู้สึกหลายคนก็ให้ว่าพ้อมกัน เมื่อรับศีลแล้วกราบลงอีก ๓ หน หากมีเครื่องไทยธรรมที่จะถวายก็ให้ถวายในตอนนี้
ครั้นแล้วพระมหาเถระท่านอนุโมทนา อุบาสกใหม่กรวดน้ำเมื่อพระขึ้นว่า ยถา...พอพระว่าถึงบทสัพพีติโยก็นั่งประนมมือรับพรจนจบ แล้วคุกเข่ากราบลงอีก ๓ หน จึงเป็นอันเสร็จพิธี

 ที่มา :

https://sites.google.com/site/thaireremonies/phithi-la-brrphcha-la-sikkha-hrux-la-suk

ไม่มีความคิดเห็น: