วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย


วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง.  (2549).  งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย.  กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์.

           วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง (2549 : 11) กล่าวว่า ในการอ่าน งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย ของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ท่านผู้อ่านก็พึงพิจารณาข้อจำกัดสำคัญหลายประการของงานนี้พร้อมกันไปด้วย
           ประการแรกงานนี้มองความเป็นไทยที่เชื้อชาติหรือสายโลหิตซึ่งที่จริงความเป็นไทยอยู่ที่วัฒนธรรมมากกว่า ข้าพเจ้าถือว่าคนไทยคือผู้ที่มีวัฒนธรรมไทย ส่วนจะมีสายเลือดมาอย่างใดนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อพลตรี หลวงวิจิตรฯ เน้นเรื่องเชื้อชาติ พลตรี หลวงวิจิตรฯ จึงเชื่อไปว่าบรรพบุรุษของชนชาติไทยในประเทศไทยอพยพขนานใหญ่มาจากทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเรื่องเราทราบกันแล้ว ว่าไม่มีข้อเท็จจริงในประวิตศาสตร์รองรับ ที่เป็นไปได้มากว่าคือการแพร่กระจายของวัฒนธรรมและภาษาไทจากดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย ความเป็นประเทศชาติของเรา ความสามัคคีถักทอกันระหว่างเราอยู่ที่การมีวัฒนธรรม ภาษา และประวัติศาสตร์ร่วมกัน ควรจะอยู่ที่การมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ไม่ใช่อยู่ที่การมีสายโลหิตเดียวกัน ซึ่งเป็นนัยของพลตรี หลวงวิจิตรฯ
           ประการที่สอง งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย ให้ความสำคัญมากไปกับเรื่องเผ่าพันธุ์และเหตุการณ์ เรื่องคนไทอยู่ที่ไหนและอพยพไปทางไหน ต้องต่อสู้กับใคร ฯลฯ แต่ให้ข้อมูลและอธิบายน้อยไปเรื่องลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมไท และการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของวัฒนธรรมไทในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงมาสู่การทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทยประเทศไทย
           ประการที่สาม งานนี้มีลักษณะเป็นการรวบรวมและบางส่วนก็เป็นการแปลมาตรง ๆ จากหนังสือของนักวิชาการชาวต่างประเทศ เช่น ส่วนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์อาหม แปลมาจากหนังสือ Sir Edward Gait, A History of Assam (second edition 1926) จึงเป็นงานที่มีการตรวจสอบน้อย คือไม่ได้สอบทานเองกับเอกสารชั้นต้น ไม่มีการทำงานสนาม พลตรี หลวงวิจิตรฯ เองไม่ความรู้ภาษาไทโบราณหรือภาษาไทถิ่น ไม่รู้ภาษาจีน คืองานนี้ของท่านพลตรี หลวงวิจิตรฯ มีลักษณะเป็นการรวบรวมงานที่มีผู้อื่นค้นคว้าไว้แล้วนำมารายงานตรง ๆ ให้ผู้อ่านทราบ ไม่ใช่การค้นคว้าวิจัยเป็นความรู้ใหม่ที่ พลตรี หลวงวิจิตรฯ ทำด้วยตัวท่านเอง อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ณ สถานภาพขององค์ความรู้เรื่องชนชาติไทขณะนั้นการศึกษาภาษาไทถิ่นและไทโบราณอย่างเป็นระบบยังไม่มี และการศึกษาในสนามส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้เพราะมีการสู้รบในพื้นที่ หรืออยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งปิดประเทศ งานชิ้นนี้ของพลตรี หลวงวิจิตรฯ ก็ต้องถือว่ามีคุณูปการสูงที่ได้รวบรวมผลการค้นคว้าของนักวิชาการและนักเดินทางค้นคว้าชาวตะวันตกที่สำคัญไว้ในภาษาไทย พลตรี หลวงวิจิตรฯ มีความรอบรู้สูงมาก สามารถรู้ถึงหนังสือเล่มสำคัญ ๆ ขณะนั้นว่าด้วยชนชาติไท งานที่ท่านยกมาอ้าง นำเอามารวบรวมไว้ ล้วนแล้วแต่เป็นงานของนักวิชาการและนักสำรวจที่เป็นปรมาจารย์ด้านการศึกษาเรื่องชนชาติไท

ไม่มีความคิดเห็น: