วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แซนโฎนตา งานบุญสุรินทร์


 

 
            แซนโฎนตา เป็นประเพณีสำคัญของชาวสุรินทร์ เชื้อสายเขมร ที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปี โดยในทุก ๆ ปี เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ลูกหลานที่ไปทำงาน หรือตั้งถิ่นฐานที่อื่นจะพร้อมใจกันเดินทางกลับบ้าน เพื่อทำพิธีแวนโนตา หรือ พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

            เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และแสดงความรัก ความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครอบครัว เครือญาติ ตลอดจนสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในชุมชน

            สำหรับปีนี้ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม แต่เพื่อความสะดวกในการจัดกิจกรรม ทางจังหวัดสุรินทร์จึงมีกำหนดจัดงาน “แซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ” ในวันที่ 10-12 ตุลาคม นี้



             กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวด และการแสดงวัฒนธรรมกันตรึมประยุกต์ และกันตรึมพื้นบ้าน ที่เวทีไผทสราญ และวันที่ 12 ต.ค. เวลา 13.00 น. จะมีขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย "เครื่องจูนโฎนตา" หรืออาหารคาวหวาน สำหรับไหว้ขอพรผู้อาวุโส และ "เครื่องแซนโฎนตา" หรืออาหารคาวหวานสำหรับเซ่นไหว้บรรพ บุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว 


            พร้อมด้วยขบวนวงมโหรี ขบวนการแสดงพื้นบ้าน และขบวนช้าง เคลื่อนขบวนจากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ไปรอบเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ และมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรม ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง 



            คำว่า "แซนโฎนตา" มาจากคำว่า "แซน" หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง ส่วน "โฎน" หมายถึง ยายหรือย่า และ "ตา" หมายถึง ตาหรือปู่ รวมความหมายถึงการทำบุญให้ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว 

            ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรเชื่อว่าเมื่อถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด ผีในยมโลกจะเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ 



            ดังนั้น ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 จึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หรือ "วันเบ็นตูจ" ก็จะนำอาหารเหล่านั้นไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด 

            หลังจากนั้นอีก 15 วัน จะเป็นวัน "เบ็นทม" ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ผีจะต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม ชาวบ้านจะประกอบพิธีแซนโฎนตาในวันนี้

            สาเหตุที่ต้องเตรียมตัวทำบุญตั้งแต่วัน ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 เพราะผีตายาย หรือ ผีบรรพบุรุษ ถูกปล่อยมาวันนั้น และเดินทางมาไกล เกิดความเหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย เมื่อมาถึงก็จะอยู่ที่วัดรอคอยว่าญาติหรือลูกหลานจะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้หรือไม่ 

 

            ถ้าญาติหรือลูกหลานมาทำบุญให้ก็จะอวยพรให้มีความสุข ความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จมีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่เห็นก็จะโกรธแค้น และสาปแช่งญาติหรือลูกหลานไม่ให้มีความสุขความเจริญ 

            เครื่องเซ่นไหว้สำหรับประกอบพิธีกรรมที่วัด ประกอบด้วย อาหารคาว ได้แก่ ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง แกงวุ้นเส้น แกงกล้วย ต้มยำไก่ ลาบหมู ไก่นึ่ง ซึ่งต้องเป็นไก่ทั้งตัวเอาเครื่องในออก 

            ส่วนอาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโชค หรือขนมดอกบัว ขนมโกรด ข้าวกระยาสารท 

            ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น 

            เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า เหล้าขาว น้ำอัดลม และเหล้าสีต่างๆ 

            ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ เสื่อหวาย ที่นอนแบบพับ หมอน ผ้าขาว ผ้าไหม ผ้าโสร่ง อาภรณ์ต่างๆ พาน ธูป เทียน และกรวย 5 ช่อ แทนขันธ์ 5 หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 

            นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ศาลพระภูมิประจำบ้าน และการแซนโฎนตาที่บ้านด้วย 

            ประเพณีแซนโฎนตา มีความเป็นมายาวนานนับพันปี ต้นกำเนิดมาจากความเชื่อว่า การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และญาติพี่น้อง จะทำให้ทุกขเวทนาจากบ่วงกรรมมีความบรรเทาเบาบางลง 

            อีกทั้งยังเชื่อว่า ถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน และถ้าญาติหรือลูกหลานประกอบพิธีแซนโฎนตา และทำบุญอุทิศให้ ก็จะอวยพรให้ญาติหรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จมีเงินมีทองใช้ 

            แต่ถ้าไม่ทำพิธีแซนโฎนตาก็จะโกรธและสาปแช่งไม่ให้มีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพฝืดเคือง ไม่ราบรื่น

            ดังนั้น ลูกหลานของชาวไทยเขมรสุรินทร์ทุกรุ่นจึงต้องประกอบพิธีแซนโฎนตามาตราบจนทุกวันนี้



            ทุกปี จ.สุรินทร์ จะจัดงานประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนแห่จากชุมชนทั้ง 17 อำเภอ และชุมชนเทศบาลเมืองสุรินทร์ กว่า 30 ขบวน และขบวนช้างเข้าร่วม 

            ผู้เข้าร่วมขบวนแห่ต่างแต่งชุดผ้าไหมพื้นบ้าน ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด มีขบวนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะพื้นบ้านกันตรึมที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผู้สนใจสามารถร่วมซึมซับบรรยากาศได้ในวันและเวลาดังกล่าว

 

ที่มา :

ดำรงพล พาชื่น.  (2555 : ตุลาคม 6).   “แซนโฏนตา งานบุญสุรินทร์.” ข่าวสด. หน้า 5.

 

 

 

 

 

บทความในหนังสือพิมพ์

 

ผู้เขียนบทความ.//(ปี : เดือน วันที่).//”ชื่อบทความ.”////ชื่อหนังสือพิมพ์.//เลขหน้า

 

ผาสุก  อินทราวุธ.  (2544 : มกราคม 21).  “สังคมชนชั้นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศจีน.”

           กรุงเทพธุรกิจ.  หน้า 6-7

 

 

กำหนดการ

 

 

ไม่มีความคิดเห็น: