คำปราศรัยแม่กองธรรมสนามหลวง
วันเปิดสอบธรรมสนามหลวง
พุทธศักราช ๒๕๕๒
๒๘ กันยายน ๒๕๕๒
ท่านผู้เป็นประธาน กรรมการ และนักเรียนผู้สอบธรรมสนามหลวงทั้งหลาย
วันนี้
เป็นวันเปิดสอบธรรมสนามหลวงนักธรรมชั้นตรี ประจำปีการศึกษาพุทธศักราช ๒๕๕๒ โอกาสนี้ขอปรารภกับท่านทั้งหลายตามสมควร
การสอบธรรมสนามหลวงปัจจุบันแบ่งการสอบเป็น
๒ สมัย วันนี้เป็นวันสอบนักธรรมชั้นตรีสมัยที่ ๑ พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร
ท่านทั้งหลายได้ชื่อว่านวกะคือผู้บวชใหม่
จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม คำสอนทางพระพุทธศาสนา
การที่จะมีความรู้ได้นั้นต้องศึกษา
เล่าเรียนหลักสูตรพระปริยัติธรรม
เรียกว่า “หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี” อันเป็น
พื้นฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ทั้งเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตในอนาคต
การศึกษาพระปริยัติธรรมในปัจจุบัน
มีการสอนกันในหลายสำนัก ตามหลักสูตรที่สนามหลวงแผนกธรรมกำหนดไว้
เป็นไปตามความสามารถของอาจารย์ผู้สอน ทำให้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยเกิดความหลายหลากแนวทางความคิด
อาจารย์ผู้สอนบางรูปอาจเน้นการสอนในเชิงทฤษฎี ให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติ
อาจารย์บางรูปอาจเน้นการสอนธรรมจากสภาวการณ์ของสังคม
ชี้นำให้นักเรียนได้เห็นถึงคุณค่าของพระธรรมวินัยจากสภาวการณ์นั้น ๆ ดังนั้น
เพื่อให้เกิดความรู้พระธรรมวินัยขั้นพื้นฐานเหมือนกันทั่วประเทศ
เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
การสอบธรรมสนามหลวงจึงเป็นการทดสอบความรู้ขั้น พื้นฐานนั้น ผู้สอบธรรมสนามหลวงได้ ย่อมได้รับการรับรองวิทยฐานะตามภูมิธรรมที่ตนสอบได้
และเป็นผู้ที่สามารถกล่าวได้เต็มความภาคภูมิใจว่า
ตนเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยมาด้วยดี
ถ้าไปประพฤติเสียหาย ไม่สมกับวิทยฐานะของตน ย่อมจะได้รับคำตำหนิจากสังคม
ในการสอบธรรมสนามหลวงครั้งนี้ ขอให้นักเรียนผู้เข้าสอบ
พึงตระหนักถึงความสำคัญแห่งการทดสอบภูมิธรรมความรู้ที่ตนได้ศึกษามา สอบด้วยความยุติธรรมสมภูมิธรรมของตน
และสำนักศึกษาของตน เพื่อเป็นศรีแก่ตนเองและสำนักศึกษาต่อไป
ขอขอบคุณ
และอนุโมทนาในกุศลกิจของทุกฝ่าย ที่ช่วยกันสนับสนุน การเรียนการสอน และการสอบธรรมสนามหลวงนี้
ขออานุภาพแห่งคุณพระไตรรัตน์
และความดีอันพิสุทธิ์ที่ทุกท่านได้ตั้งใจบำเพ็ญมาโดยตลอด
จงอำนวยอิฏฐวิบุลมนุญผลนำให้ทุกท่านได้ประสบความเจริญรุ่งเรือง และถึงความงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตลอดกาลเป็นนิตย์เทอญ.
(พระพรหมมุนี)
แม่กองธรรมสนามหลวง
วัดบวรนิเวศวิหาร
กรุงเทพมหานคร
วิธีตรวจในสนามหลวง
การตรวจประโยคธรรมและธรรมศึกษาของสนามหลวงมีความประสงค์เพื่อทราบความรู้ของนักเรียนตามความเป็นจริง
เป็นทางให้
ผู้ศึกษาเจริญในวิทยาคุณและจริยสมบัติ สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป
ปัญหาที่ออกสอบ
สนามหลวงแผนกธรรมได้รวบรวมขึ้นจาก
ข้อสอบของพระกรรมการหลายรูป มีกรรมการตรวจพิเศษคัดเลือกอีก ชั้นหนึ่ง ถามความจำบ้าง ความเข้าใจบ้าง
ความคิดบ้าง การตรวจต้องถือแนวนี้เป็นเกณฑ์ตรวจ คำถามที่ถามความจำ
ต้องตอบให้ตรงตามแบบ และอาจเหมือนกันได้หมดทุกคน ที่ถามความเข้าใจ
ในทางที่ถูกมีได้อย่างเดียว แต่โวหารอาจต่างกัน ที่ถามความคิด
เหตุผลย่อมมีได้คนละอย่างตามความคิดของแต่ละคน นี้เป็นประมาณในการตอบ
คำเฉลยนั้นเป็นเพียงแนวทางให้กรรมการได้ถือเป็นเกณฑ์ในการตรวจได้สะดวกเป็นเพียง
มติหนึ่งที่อาศัยหลักเป็นสำคัญ จะเกณฑ์ให้นักเรียนตอบตรงกันทุกข้อคงเป็นไปไม่ได้
เว้นไว้แต่ใจความสำคัญเท่านั้น ส่วนข้อสอบของธรรมศึกษาทุกชั้น
เว้นเรียงความแก้กระทู้ธรรม ปัญหาที่ออกสอบเป็นแบบปรนัย คือเลือกคำตอบที่บอกมาแล้วในแต่ละข้อ
แต่ต้องเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดในแต่ละข้อซึ่งมีที่ถูกที่สุดเพียงข้อละคำตอบเดียว
นักเรียน จะต้องเลือกตอบข้อที่ถูกเท่านั้น เลือกตอบผิด เป็นไม่ได้คะแนน
เป็นการถามทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความจำ และความคิดไปในตัวด้วย
การตรวจก็เพื่อจะรู้ว่านักเรียนมีความรู้หลักธรรมวินัย
ควรแก่การดำรงพระศาสนาหรือไม่ ควรได้เป็นได้ ควรตกเป็นตก
อย่างนี้เป็นทางเจริญวิทยาคุณของผู้ศึกษาต่อไป
ผู้ตรวจพึงตั้งอยู่ในมัชฌัตตุเบกขา
วางตนเป็นกลาง ถือความจริงเป็นหลัก ถูก ว่าตามถูก
ผิด ว่าตามผิด ไม่ควรถืออคติอันทำให้เสียความเที่ยงธรรม มุ่งทำกิจพระศาสนา
สงเคราะห์กุลบุตรให้ได้ความเสมอภาคทั่วหน้ากัน
ท่านทั้งหลายได้รับอาราธนามาให้เป็นกรรมการนั้น
คือเป็นผู้ที่สนามหลวงเห็นแล้วว่าทรงคุณธรรมควรแก่ฐานะ
สมควรจะยกย่องให้เป็นผู้ตรวจความรู้ของนักเรียนได้ ขอท่านจงเคารพต่อความเป็นธรรม
เพื่อความเสมอภาคแก่นักเรียนทั้งหลาย ถ้าคณะกรรมการกองใดหรือผู้ใด มีมติไม่ลงกันหรือขัดข้องอย่างใด
หากตกลงกันไม่ได้ ให้หารือประธาน
ในที่นั้น ให้ท่านชี้ขาดและพึงปฏิบัติตามโดยธรรม
อนึ่ง นักเรียนบางคน
บางสำนักอยากได้จนเกินพอดี ถึงกับทำผิดระเบียบของสนามหลวง ลืมคิดถึงตนว่า
เรียนธรรมสอบธรรม เป็น นักธรรม
ขอให้กรรมการทั้งหลายช่วยสอดส่องตรวจตรากำกับไปด้วย ลักษณะของใบตอบที่ส่อทุจริต
ดังนี้
๑. ฉบับเดียวกัน
ลายมือไม่เหมือนกัน หรือวันต้นอย่างหนึ่ง
วันหลังอย่างหนึ่ง
ซึ่งส่อว่าเป็นคนละคน เหล่านี้แปลว่าคนอื่นทำให้
๒. คำตอบที่ต้องเรียงคำพูดมากๆ
เหมือนกับฉบับอื่น อันส่อว่าไม่ใช่ความจำ ความรู้อันเป็นสำนวนของตน นี้แปลว่า
ดูคนอื่นตอบหรือให้คนอื่นดูของตน
๓. ตอบโดยทำนองอย่างเขียนคำบอก
เหมือนกันจริงๆ เช่น ผิดเหมือนกัน ถูกเหมือนกัน แก้เหมือนกัน ขีดฆ่าเหมือนกัน
ตกข้อความเหมือนกัน นี้แสดงว่ามีผู้บอกให้ตอบ
๔. ถ้าเห็นว่าทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง
จงลงเลขศูนย์ นำเสนอประธานกรรมการเก็บรวบรวมไว้กับใบตอบคนเดียวกันเป็นหลักฐาน
วิธีตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
๑. วิธีตรวจนี้
เป็นวิธีตรวจให้คะแนน คะแนนเต็มแต่ละข้อ มี ๑๐ คะแนน
๒. การจะตรวจให้คะแนนเต็มหรือไม่
ให้กรรมการพิจารณาเห็นตามสมควรถ้าไม่ถูกเลย
ให้ลงเลข ๐
๓. ข้อใหญ่ที่มีข้อย่อย
ให้ลงคะแนนที่ข้อย่อยแต่ละข้อ แล้วรวมคะแนนไว้ที่เลขหัวข้อใหญ่นั้นๆ
เมื่อตรวจข้อย่อยครบในแต่ละข้อย่อยใหญ่ ให้รวมคะแนนไว้คราวหนึ่ง แล้วเขียนเลขจำนวนคะแนนที่ได้เฉพาะข้อนั้นๆ
ไว้ที่เลขหัวข้อของข้อนั้นๆ
๔. เมื่อตรวจครบทั้ง ๑๐
ข้อแล้ว ให้รวมคะแนนทั้งหมด (๑๐ ข้อ) แล้วเขียนไว้ที่มุมขวาด้านบนทุกฉบับ
๕. ตรวจเสร็จแล้วให้ลงชื่อกำกับไว้ที่มุมซ้ายมือด้านบนทุกฉบับ
และฉบับแรกของแต่ละปึกให้ลงชื่อโดยเขียนตัวบรรจงทุกปึก
๖. เฉพาะใบตอบของธรรมศึกษาทุกชั้น
เว้นกระทู้ ข้อสอบแต่ละวิชามี ๕๐ ข้อๆ ละ ๒ คะแนน
ให้ตรวจไปตามใบเฉลยฉบับที่เฉลยไว้ให้ ตรวจแต่ละฉบับแล้ว
ให้นับข้อรวมคะแนนและปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ ๕.
๗. ในกรณีที่นักเรียนธรรมศึกษากากบาทลงในช่องคำตอบในข้อเดียวกันหลายคำตอบ
ถือว่าข้อนั้นๆ เป็นผิด ไม่ได้คะแนน หากมีรอย ขูด ลบ ขีด ฆ่า ไว้
แต่พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่านักเรียนตกลงใจตอบคำตอบในข้อไหนได้ ก็ให้ตรวจไปตามนั้น
๘. การตรวจให้ใช้กรรมการ ๒
รูป เมื่อกรรมการรูปที่ ๑ ตรวจเสร็จแล้ว ให้กรรมการรูปที่ ๒ ตรวจซ้ำ ถ้าเห็นไม่ร่วมกันให้ตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าเห็นร่วมกันก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข แล้วให้ลงนามกำกับไว้ทุกฉบับ
โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับกรรมการรูปที่ ๑
การให้คะแนน
๑. การให้คะแนนนักธรรมและธรรมศึกษาทุกชั้น
มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
๑.๑ สำหรับประโยคนักธรรมทุกชั้นให้ถือ ๔๐๐ คะแนนเป็นเกณฑ์ วิชาทุกวิชาให้คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน
เมื่อรวมคะแนนของทั้ง ๔ วิชาแล้ว ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๒๘๐ คะแนน
ถือว่าสอบได้ ต่ำกว่า ๒๘๐ คะแนน
ถือว่าสอบตก
๑.๒ สำหรับธรรมศึกษาทุกชั้น
ให้ถือ ๔๐๐ คะแนนเป็นเกณฑ์ วิชาทุกวิชาคะแนนเต็ม
๑๐๐ คะแนน เมื่อรวมคะแนนของทั้ง ๔ วิชาแล้ว ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ คะแนน
ถือว่าสอบได้ ต่ำกว่า ๒๐๐ คะแนน ถือว่าสอบตก
๑.๓ นักธรรมและธรรมศึกษาทุกชั้น
เมื่อตรวจดูคะแนนของแต่ละวิชาที่ได้แล้ว หากมีวิชาใดวิชาหนึ่ง
ได้คะแนนต่ำกว่า ๒๕ คะแนน แม้จะรวมครบทุกวิชาแล้วได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็ตาม
ให้ถือว่าการสอบครั้งนี้เป็นการสอบตกด้วย
๒. ผู้สอบนักธรรมและธรรมศึกษาทุกชั้น
ต้องสอบทั้ง ๔ วิชา
ถ้าขาดสอบวิชาใดวิชาหนึ่ง สนามหลวงแผนกธรรมไม่รับพิจารณา
ให้อยู่ในเกณฑ์สอบตก
๓. การตอบสับข้อให้หักคะแนนเสีย
๒ คะแนนเช่นเดิม คือแทนที่จะได้ ๑๐ คะแนนเต็ม ก็ให้เพียง ๘ คะแนนเท่านั้น
หากตอบไม่หมดข้อ คงให้คะแนนไม่เต็มข้อเท่ากับการตอบ
ถ้าผู้ตรวจเห็นว่าฉบับใดผิดมาก
ไม่ได้แม้แต่คะแนนเดียว ก็ให้ลง ๐ ไว้ด้วย
๔. วิชาที่ตอบต้องได้คะแนนทุกวิชา
จึงจะยอมรับรวมคะแนนให้ หากเกิดวิชาใดวิชาหนึ่ง ไม่ได้คะแนนแม้แต่คะแนนเดียว
หรือได้ต่ำกว่า ๒๕ คะแนน ก็ห้ามรวมคะแนน ปรับเป็นตก แม้รวมทุกวิชาแล้ว
จะได้คะแนนสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ตาม
แนวการตรวจกระทู้ธรรม
สำหรับกรรมการพิจารณาให้คะแนน
๑. แต่งได้ตามกำหนด
๒. อ้างกระทู้ได้ตามกฎ
๓. เชื่อมกระทู้ได้ดี
๔. อธิบายความสมกับกระทู้ที่ได้ตั้งไว้
๕. ใช้สำนวนสุภาพเรียบร้อย
๖. ใช้ตัวสะกดการันต์ถูกเป็นส่วนมาก
๗. สะอาดไม่เปรอะเปื้อน
ขอให้กรรมการสนามหลวงแผนกธรรมได้ปฏิบัติให้ชอบด้วยระเบียบ
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการสอบทุกประการ
วิธีตรวจนี้
ให้ใช้เฉพาะในการสอบธรรมสนามหลวง
*********
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
ปัญหาและเฉลยข้อสอบ
นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ.
๒๕๕๒
กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันจันทร์ ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒
กาโล
ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว
สหตฺตนา
กาลเวลา
ย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง.
ขุ. ชา. ทุก. ๒๗/๙๕
----------------
แต่งอธิบายให้สมเหตุสมผล อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบด้วย ๑ ข้อ
และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย สุภาษิตที่อ้างมานั้น
ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง
ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบตั้งแต่
๒ หน้า (เว้นบรรทัด)
ขึ้นไป
----------------
ให้เวลา ๓ ชั่วโมง
ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒
๑. บุพพการีและกตัญญูกตเวที ได้แก่บุคคลเช่นไร ?
จงยกตัวอย่างมาสัก
๒ คู่
๑. บุพพการี
ได้แก่บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
กตัญญูกตเวที ได้แก่บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน
(ตอบเพียง
๒ คู่)
คู่ที่ ๑ มารดาบิดากับบุตรธิดา
คู่ที่ ๒ ครูอาจารย์กับศิษย์
คู่ที่ ๓ พระราชากับราษฎร
คู่ที่ ๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธบริษัท ฯ
๒. อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมีกี่อย่าง ?
ข้อที่ว่า
“ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์”
นั้นคืออย่างไร ?
๒. มี ๓ อย่าง ฯ
คือ
ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ ฯ
๓. มูลเหตุที่ทำให้บุคคลทำความชั่ว เรียกว่าอะไร
? มีอะไรบ้าง ?
เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรปฏิบัติอย่างไร ?
๓. เรียกว่า อกุศลมูล ฯ
มี ๑.
โลภะ อยากได้
๒.
โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓.
โมหะ หลงไม่รู้จริง ฯ
เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรละเสีย ด้วยทาน ศีล ภาวนา ฯ
๔. ปัญญาอันเห็นชอบอย่างไร
จึงชื่อว่ามรรคในอริยสัจ ๔ ? เพราะเหตุไร ?
๔. ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่ามรรค ฯ เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ฯ
๕. ธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง
คืออะไรบ้าง ? ธรรม ๕ อย่างนั้น เรียกว่าอินทรีย์ เพราะเหตุไร ?
๕. คือ ๑.
สัทธา ความเชื่อ ๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้ ๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๕.
ปัญญา ความรอบรู้ ฯ
เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน
ฯ
๖. คารวะ คืออะไร ? มีกี่อย่าง ?
ข้อว่า
คารวะในความศึกษา หมายถึงอะไร ?
๖. คือ ความเคารพ เอื้อเฟื้อ ฯ มี ๖ อย่าง ฯ
หมายถึง ความเคารพ เอื้อเฟื้อในไตรสิกขา ฯ
๗.
มละ คืออะไร ? เป็นศิษย์ได้ดีแล้วทำมึนตึงกับอาจารย์ จัดเข้าในมละอย่างไหน และควรชำระมละอย่างนั้นด้วยธรรมอะไร
?
๗. มละคือมลทิน
ฯ จัดเข้าใน มักขะ ลบหลู่คุณท่าน และควรชำระด้วยกตัญญูกตเวทิตา
ความรู้คุณท่านแล้วตอบแทน ฯ
๘. อบายมุข
คืออะไร ? คบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษอย่างไร
?
๘. คือ
ทางแห่งความเสื่อม ฯ
มีโทษอย่างนี้ คือ
๑.
นำให้เป็นนักเลงการพนัน
๒.
นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓.
นำให้เป็นนักเลงเหล้า
๔.
นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม
๕.
นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า
๖.
นำให้เป็นคนหัวไม้
ฯ
๙. ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันเรียกว่าอะไร
? มีอะไรบ้าง ?
๙. เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ฯ มีดังนี้
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา
คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตน ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว
๔. สมชีวิตา
ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ไม่ให้ ฝืดเคืองนัก
ไม่ให้ฟูมฟายนัก ฯ
๑๐. มิจฉาวณิชชา คืออะไร ? การค้าขายเด็ก การค้าขายยาเสพติด การ ค้าขายเบ็ดตกปลา จัดเป็นมิจฉาวณิชชาข้อใด?
๑๐. มิจฉาวณิชชา
คือการค้าขายไม่ชอบธรรม ฯ
การค้าขายเด็ก จัดเข้าในค้าขายมนุษย์
การค้าขายยาเสพติด จัดเข้าในค้าขายน้ำเมา
การค้าขายเบ็ดตกปลา จัดเข้าในค้าขายเครื่องประหาร ฯ
***********
ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธประวัติ นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันพุธ ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒
๑. การเรียนรู้พุทธประวัติได้ประโยชน์อย่างไร ?
๑. ได้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ
๑. ในด้านการศึกษา ทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้า
เช่นเดียว
กับการศึกษาตำนานความเป็นมาของชาติตน
ทำให้บุคคลได้ทราบว่า
ชาติของตนเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรเป็นต้น
๒.
ในด้านปฏิบัติ ทำให้บุคคลได้แนวในการดำเนินชีวิตตามพระพุทธ
จริยา
อันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมาให้แก่บุคคล ตาม
สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ฯ
๒. เทวทูต ๔
ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นคืออะไรบ้าง ?
ทรงเห็นแล้ว มีพระดำริอย่างไร ?
๒. คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ฯ
ทรงมีพระดำริว่า บุคคลทั่วไปถูกความเจ็บ ความแก่ ความตายครอบงำ
ไม่ล่วงพ้นไปได้
ถึงพระองค์เองก็มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ควรแสวงหา
อุบายเครื่องพ้น แต่ฆราวาสเป็นที่คับแคบ
ดุจเป็นทางที่มาแห่งธุลี
บรรพชาเป็นช่องว่าง
พอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ จึงน้อมพระหฤทัยไป
ในบรรพชา ฯ
๓. การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยานั้น
เพราะเหตุไร ?
๓. เพราะทรงดำริว่า ทุกกรกิริยาที่ทรงบำเพ็ญนั้นจะยิ่งไปกว่านี้ไม่มี แต่ก็ไม่
เป็นทางให้ตรัสรู้ได้
การบำเพ็ญเพียรทางจิตจักเป็นทางตรัสรู้ได้กระมัง
แต่คน
ซูบผอมเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา กลับมาเสวย
พระอาหารตามปกติ ฯ
๔. อนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยเรื่องอะไร ? ทรงแสดงเมื่อไร ?
ผลเป็นอย่างไร
?
๔. ว่าด้วย ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ฯ เมื่อวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ฯ ผล คือจิตของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฯ
๕. ฆราวาสที่บรรลุพระอรหัตผลคนแรกคือใคร ? เพราะฟังธรรมอะไร ?
๕. คือ
ยสกุลบุตร ฯ เพราะฟังอนุปุพพีกถา
และอริยสัจ ๔ ฯ
๖. พระพุทธเจ้าทรงเลือกแคว้นมคธเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก
เพราะเหตุไร ?
๖. เพราะแคว้นมคธ
เป็นแคว้นใหญ่มีอำนาจและบริบูรณ์ด้วยสมบัติ มีประชาชนมาก มีเจ้าลัทธิมาก จึงทรงเลือก ฯ
๗. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์สำเร็จเป็นพระโสดาบันเพราะฟังธรรมจากใคร ?
๗. พระสารีบุตร ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ
พระโมคคัลลานะ
ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ
๘. พระพุทธรูป สังเวชนียสถาน ตุมพสถูป และ อังคารสถูป
อย่างไหนเป็นบริโภคเจดีย์และอุทเทสิกเจดีย์ ?
๘. สังเวชนียสถาน
ตุมพสถูป และ อังคารสถูป เป็นบริโภคเจดีย์
พระพุทธรูป
เป็นอุทเทสิกเจดีย์ ฯ
ศาสนพิธี
๙. อุโบสถศีล มีกี่ข้อ ? ข้อที่ ๓
ว่าอย่างไร ? การเข้าจำอุโบสถศีลนี้อยู่ในหมวดไหนของศาสนพิธี
?
๙. มี ๘ ข้อ
ฯ ข้อที่ ๓ ว่า อพฺรหฺมจริยา
เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ฯ
อยู่ในหมวดกุศลพิธี ฯ
๑๐. การแสดงความเคารพในศาสนพิธีมีอะไรบ้าง ?
ในแต่ละอย่างมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?
๑๐. มี ประนมมือ ๑ ไหว้ ๑ กราบ ๑ ฯ
ประนมมือ คือการกระพุ่มมือทั้งสองประกบกันไว้ระหว่างอก
โดยให้ทุกนิ้วของมือทั้งสองแนบชิดติดตรงกัน
ไหว้ คือการยกมือที่ประนมขึ้นพร้อมก้มศีรษะเล็กน้อยให้มือประนม
จรดหน้าผาก นิ้วมือทั้ง ๒ อยู่ระหว่างคิ้ว
กราบ คือการแสดงอาการกราบราบลงพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์
ฯ
***********
ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันพฤหัสบดี ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒
๑. พุทธบัญญัติและอภิสมาจาร คืออะไร ? ทั้ง ๒
รวมเรียกว่าอะไร ?
๑. พุทธบัญญญัติ คือข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้น เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย
และวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดด้วยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง ส่วนอภิสมาจาร
คือขนบธรรมเนียมที่ทรงแต่งตั้งขึ้น เพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม
ฯ ทั้ง ๒ นี้รวมเรียกว่า พระวินัย ฯ
๒. อาบัติ คืออะไร ? อาบัติที่เป็นโลกวัชชะและที่เป็นปัณณัตติวัชชะหมายความว่าอย่างไร
? จงยกตัวอย่างประกอบด้วย
๒. คือ
โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ฯ
อาบัติที่เป็นโลกวัชชะหมายความว่า อาบัติที่มีโทษซึ่งภิกษุทำเป็นความผิดความเสีย
คนสามัญทำก็เป็นความผิดความเสียเหมือนกัน เช่น ทำโจรกรรม เป็นต้น
ส่วนที่เป็นปัณณัตติวัชชะหมายความว่า อาบัติที่มีโทษเฉพาะภิกษุทำ
แต่คนสามัญทำไม่เป็นความผิดความเสีย เช่น ขุดดิน เป็นต้น ฯ
๓. สิกขากับสิกขาบท ต่างกันอย่างไร ? อย่างไหนมีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?
๓. สิกขา คือ ข้อที่ภิกษุต้องศึกษา มี ๓
ได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขา
ปัญญาสิกขา ส่วนสิกขาบท คือ พระบัญญัติมาตราหนึ่ง ๆ เป็นสิกขาบท
หนึ่ง ๆ
มี ๒๒๗ สิกขาบท ได้แก่ ปาราชิก
๔ สังฆาทิเสส ๑๓
อนิยต ๒
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์
๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔
เสขิยะ ๗๕
และ อธิกรณสมถะ ๗ ฯ
๔. คำว่า
อาบัติที่ไม่มีมูล
กำหนดโดยอาการอย่างไร ? ภิกษุโจทภิกษุด้วยอาบัติไม่มีมูลต้องอาบัติอะไร
?
๔. กำหนดโดยอาการ
๓ คือ ไม่ได้เห็นเอง ๑ ไม่ได้ยินเอง ๑ ไม่ได้เกิด รังเกียจสงสัย ๑ ว่าภิกษุนั้นต้องอาบัติชื่อนั้น ฯ
โจทด้วยอาบัติปาราชิกต้องอาบัติสังฆาทิเสส
โจทด้วยอาบัติอื่นจากอาบัติปาราชิกต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ
๕. ในสิกขาบทที่ ๒ แห่งอาบัติปาราชิก ทรัพย์เป็นเหตุให้ต้องอาบัติปาราชิก
อาบัติถุลลัจจัย และอาบัติทุกกฏ มีกำหนดราคาไว้เท่าไร ?
๕. มีกำหนดราคาไว้ดังนี้
ทรัพย์ มีราคาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป เป็นเหตุให้ต้องอาบัติปาราชิก
ทรัพย์ มีราคาไม่ถึง ๕ มาสก แต่มากกว่า ๑
มาสก เป็นเหตุให้ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทรัพย์ มีราคาตั้งแต่ ๑ มาสกลงมา
เป็นเหตุให้ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
๖. ผ้าไตรครอง
มีอะไรบ้าง ? ต่างจากอติเรกจีวรอย่างไร
?
๖. มี
สังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ฯ
ต่างกันอย่างนี้ ผ้าไตรครองเป็นผ้าที่ภิกษุอธิษฐาน มีจำนวนจำกัด คือ ๓ ผืน ส่วนอติเรกจีวร
คือผ้าที่นอกเหนือจากผ้าไตรครอง
มีได้ไม่จำกัดจำนวน ฯ
๗. พระ ก. นำเบียร์มาให้พระ
ข. ดื่ม
โดยหลอกว่าเป็นน้ำอัดลม พระ ข. หลงเชื่อจึงดื่มเข้าไป ถามว่า
พระ ก.
และพระ ข. ต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?
๗. พระ ก. เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะพูดปด
พระ ข. เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มน้ำเมา แม้ไม่รู้ก็ต้องอาบัติ
เพราะสิกขาบทนี้เป็นอจิตตกะ ฯ
๘. ภิกษุนำตั่งของสงฆ์ไปตั้งใช้ในที่แจ้ง
จะหลีกไปสู่วัดอื่นต้องทำอย่างไร จึงจะไม่เป็นอาบัติ ?
๘. ต้องเก็บด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเก็บ
หรือมอบหมายให้ผู้อื่น
จึงจะไม่เป็นอาบัติ
ฯ
๙. ลักษณะการประเคนประกอบด้วยองค์อะไรบ้าง ? การช่วยกันยกโต๊ะอาหารขึ้นประเคนก็ดี การจับผ้าปูโต๊ะประเคนก็ดี ทั้ง ๒ วิธีนี้ถูกต้องหรือไม่ ? เพราะเหตุไร
?
๙. ประกอบด้วยองค์ต่อไปนี้
๑. ของที่จะพึงประเคนนั้นไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลาง
ยกได้คนเดียว
๒. ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส
๓. เขาน้อมเข้ามา
๔. กิริยาที่น้อมเข้ามาให้นั้น ด้วยกายก็ได้
ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้
ด้วยโยนให้ก็ได้
๕. ภิกษุรับด้วยกายก็ได้
ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ ฯ
ไม่ถูกทั้ง
๒ วิธี เพราะไม่ต้องลักษณะองค์ประเคน คือ การช่วยกัน
ยกโต๊ะอาหารขึ้นประเคนผิดลักษณะองค์ที่
๑
การจับผ้าปูโต๊ะประเคนผิดลักษณะองค์ที่
๓ ฯ
๑๐. อธิกรณ์ คืออะไร ? เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องทำอย่างไร ?
๑๐. คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ
ฯ
ต้องระงับด้วยอธิกรณสมถะอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่อธิกรณ์นั้น
ๆ ฯ
***********
เรื่อง ปัญหาและเฉลยข้อสอบ นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๕๕๒
พิมพ์ครั้งแรก วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
จำนวน ๘,๐๐๐ เล่ม
จัดพิมพ์ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
เลขที่ ๒๘๗
อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย
หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร
ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทร. ๐–๒๒๘๐–๗๖๙๒,
๐–๒๖๒๙–๐๙๖๑, ๐–๒๖๒๙–๐๙๖๒
โทรสาร. ๐–๒๖๒๙–๐๙๖๓
ตรวจต้นฉบับและพิสูจน์อักษร :
พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร
พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พระธรรมรัตนดิลก วัดสุทัศนเทพวราราม
พระราชญาณกวี วัดโสมนัสวิหาร
พระสุธีรัตนาภรณ์ วัดสุทัศนเทพวราราม
พระชินวงศเวที วัดตรีทศเทพ
พระมหาณรงค์ ญาณิสฺสโร วัดตรีทศเทพ
พิมพ์/รูปเล่ม : พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์
วัดสัมพันธวงศ์
นายถนอมศักดิ์ สู่ภิภักดิ์
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
๓๑๔–๓๑๖ ปากซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง
เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐
นายพีรพล
กนกวลัย ผู้พิมพ์โฆษณา โทร. ๐–๒๒๒๓–๓๓๕๑,
๐–๒๒๒๓–๕๕๔๘
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น