สมภารเจ้าวัด : คุณสมบัติ
ดังได้ปรารภในหัวข้อก่อนแล้วว่า
สมภารเจ้าวัดในสมัยพุทธกาลและสมัยโบราณนั้นยังไม่ชัดเจน
ไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับสมภารเจ้าวัดในยุคสมัยนี้
ซึ่งการจะทำความเข้าใจในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนให้ชัดเจนได้นั้นก็ต้องอาศัยจินตนาการประกอบกับหลักฐานที่มีปรากฏอยู่
เมื่อจินตนาการถึงยุคโน้นสมัยโน้น ก็มีเรื่องที่รู้กันว่าในพุทธกาลสมัยนั้น
แรกเริ่มเดิมทียังไม่มีวัด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ก็อาศัยตามป่าตามไร่ตามสวนที่รกร้างว่างเปล่า
บางครั้งก็อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือตามบ้านร้างที่เรียกว่าเรือนว่าง
เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ยังมีจำนวนน้อย
หลังจากออกพรรษาแล้วก็เที่ยวจาริกเผยแพร่หลักธรรมคำสอน
ระเบียบการปกครองหรือบังคับบัญชาก็ขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้าและพระภิกษุผู้บวชก่อน
อาจเปรียบเทียบได้ว่า พระพุทธเจ้าเปรียบดังพ่อ ส่วนภิกษุผู้บวชก่อนก็เปรียบดังพี่
ความเป็นอยู่ก็ย่อมเคารพเชื่อฟังพ่อและพี่เป็นประมาณ
ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารจึงได้ถวายสวนเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในบวรพุทธศาสนา
ถามว่าใครเป็นสมภารเจ้าวัดแห่งวัดเวฬุวัน
ตอบได้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นสมภารเจ้าวัดรูปแรกของวัดเวฬุวัน
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังท้องถิ่นอื่นหรือไม่ได้ประทับอยู่ในวัด พระภิกษุผู้อาวุโสที่สุดก็ทำหน้าที่เปรียบดังสมภารเจ้าวัด
ตามนัยนี้จะเห็นได้ว่าพระภิกษุรูปใดแก่ที่สุดโดยการบวชคือมีพรรษาสูงสุด
พระภิกษุรูปนั้นก็ย่อมเป็นสมภารเจ้าวัดในวัดนั้นๆ ดังนั้น
คุณสมบัติสมภารเจ้าวัดที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ
พระภิกษุที่มีพรรษามากที่สุดภายในวัดขณะนั้น
พระศาสนาสมัยแรกเริ่มซึ่งค่อยๆ
ก่อตัวขึ้นและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นานนัก
จำนวนพระภิกษุสงฆ์ซึ่งในระยะแรกที่มีจำนวนน้อยก็ค่อยๆ มากยิ่งขึ้น
ตลอดสถานที่อยู่คือวัดก็ค่อยๆ มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับเช่นเดียวกัน ผู้ที่สมัครใจเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในสมัยต่อมา
บางส่วนจึงมิใช่ผู้มีศรัทธาแรงกล้าเพื่อต้องการศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง
กล่าวคือ วัตถุประสงค์ในการบวชย่อมมีหลากหลายยิ่งขึ้น บ้างก็บวชสนุกตามเพื่อน
บ้างก็บวชเลี้ยงชีวิต บางก็บวชแสวงหาลาภ ทำนองว่า “เมื่อข้าวดี
กับดี ที่อยู่สบาย ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครมาอยู่ด้วย” ความเป็นอยู่ของสังคมพระภิกษุสงฆ์ซึ่งในระยะแรกเป็นไปทำนอง “พ่อกับลูก” และ “พี่กับน้อง”
ก็ค่อยๆ ซับซ้อนยิ่งขึ้นตามหลักธรรมดาที่ว่าคนยิ่งมากก็ยิ่งยุ่ง
ดังนั้น พระพุทธเจ้าในฐานะพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงบัญญัติพระวินัยและวางระเบียบแบบแผนเพื่อความเป็นบึกแผ่นและมั่นคงถาวรของพระศาสนา
นั่นคือ ระบบพ่อกับลูกและพี่กับน้องก็ค่อยๆ เลือนหายไป
โดยมีพระวินัยและขนบธรรมเนียมเข้ามาแทนที่
ในขณะเดียวกันหลักธรรมะจะเป็นเครื่องช่วยประสานและบ่งชี้ว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร
หนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ ในกัณฑ์ที่ ๑๓ เริ่มต้นไว้ว่า “ในครั้งแรกตรัสรู้ ที่เรียกว่า
ปฐมโพธิกาล ภิกษุยังไม่มากมาย ก็ยังปกครองง่าย เมื่อมีภิกษุมากขึ้น
การปกครองก็ยากขึ้นตามกัน
พระศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทวางเป็นพุทธอาณาและทรงตั้งขนบธรรมเนียมเป็นอภิสมาจาร
มีมากขึ้นโดยลำดับเวลา . . .” วินัยมุขกัณฑ์นี้
ได้แจกแจงการจัดประเภทภิกษุไว้หลายนัยเช่น อุปัชฌาย์ อาจารย์ สันธิวิหาริก
และอันเตวาสิก เป็นต้น ส่วนสิ่งที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ
การจัดประเภทพระภิกษุออกเป็น ๓ ระดับ โดยอาศัยพรรษาเป็นเกณฑ์ ได้แก่
๑/ พระนวกะ คือ ผู้แรกบวชหรือผู้ใหม่
มีพรรษายุกาลไม่ถึง ๕ พรรษา พระนวกะนี้ต้องถือนิสสัย กล่าวคือ
ต้องอยู่กับอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ ต้องมีผู้ควบคุม ดูแล แนะนำสั่งสอน
ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้
๒/ พระมัชฌิมะ คือ
ผู้ปานกลาง มีพรรษายุกาลครบ ๕ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา พระมัชฌิมะนี้
เรียกอีกอย่างว่านิสัยมุตตกะ กล่าวคือ ไม่ต้องถือนิสสัย สามารถอยู่ตามลำพัง
ครองตัวเองได้ แต่ไม่สามารถจะเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของผู้อื่นได้
๓/ พระเถระ คือ
ผู้ใหญ่หรือผู้มั่นคง มีพรรษายุกาลครบ ๑๐ พรรษาขึ้นไป พระเถระนี้
สามารถรับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของผู้อื่นได้
อนึ่ง คุณสมบัติของพระมัชฌิมะและเถระนี้
นอกจากพรรษาแล้วก็ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีก
ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นอาจบกพร่องหรืออนุโลมได้บ้าง
แต่การนับจำนวนพรรษาไม่สามารถอนุโลมได้ นั่นคือ
ถือว่าจำนวนพรรษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจำแนก อีกอย่างหนึ่ง
พระภิกษุรูปใดแม้จะเกินห้าหรือเกินสิบพรรษาแล้ว แต่คุณสมบัติอื่นๆ
ยังบกพร่องไม่ฉลาดเท่าที่ควรก็อาจยังไม่ได้รับการเลื่อนชั้น
ส่วนการเลื่อนชั้นจากพระนวกะมาเป็นพระมัชฌิมะที่เรียกว่า “การปลดนิสัย” เป็นต้น
เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งเรื่องนี้ในวินัยมุขกัณฑ์ที่๑๓
ได้สรุปไว้ว่า
“หลักเหล่านี้ ดูมิใช่สำหรับไว้ให้ภิกษุตัดสินใจเอง
สำหรับอุปัชฌายะอาจารย์หรือพระเถระผู้เป็นใหญ่เหนือตน
กำหนดรู้ว่าภิกษุผู้นิสิตของตน สมควรจะได้รับปลดนิสสัยให้อยู่ได้ตามลำพังหรือยัง
และภิกษุผู้นิสสัยมุตตกะนั้น สมควรจะเป็นปริสุปัฎฐาปกะปกครองหมู่หรือยัง
เมื่อเห็นสมควรก็จะได้ปลดจากนิสสัยและสั่งให้สงเคราะห์บริษัท
ดังพระศาสดาได้ทรงทำมา เมื่อครั้งทรงส่งพวกสาวกไปประกาศพระศาสนา
และเมื่อครั้งทรงอนุญาตให้พวกสาวกรับให้อุปสมบทได้เอง ด้วยให้ถึงไตรสรณคมน์"
จะเห็นได้ว่า
ตามระเบียบวินัยยังคงยึดถือความสำคัญของพรรษาเป็นเกณฑ์เบื้องต้น และให้อำนาจแก่พระเถระผู้ใหญ่ในการกำหนดความเป็นอยู่และเป็นไปของคณะสงฆ์
แต่มิได้ยึดถือพรรษาเพียงอย่างเดียว
เพราะยังมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นประกอบพรรษาด้วย ฉะนั้น
เราจึงมาดูว่าคุณสมบัติอื่นของพระผู้มีพรรษาเกินห้าหรือสิบพรรษาที่ควรจะเป็นสมภารเจ้าวัดนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
คุณสมบัติของพระมัชฌิมะ นอกจากจะมีพรรษาครบ ๕ กาลฝนแล้ว
จะต้องประกอบด้วย
๑. เป็นผู้มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป (หิริ)
มีความเกรงกลัวต่อบาป (โอตตัปปะ) มีความเพียร มีสติ
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ
เคยได้ยินได้ฟังมามาก มีปัญญา
๓. รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา
อาบัติหนัก จำปาติโมกข์ได้แม่นยำ
คุณสมบัติของพระเถระ นอกจากจะมีพรรษาครบ ๑๐ กาลฝนแล้ว
จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้คือ
๔. สามารถทำเอง หรือสั่งให้ผู้อื่น
ช่วยพยาบาลพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ที่เจ็บไข้ได้ป่วย (สันธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกผู้อาพาธ)
ช่วยระงับความกระสันสึก
และช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดแก่พระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ได้โดยทางธรรม
รู้จักอาบัติและวิธีออกจากอาบัติ
๕.
สามารถฝึกสอนพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ทั้งในส่วนขนบธรรมเนียมมารยาทเบื้องต้น
(อภิสมาจาร) และในส่วนของพรหมจรรย์เบื้องต้น สามารถแนะนำในธรรมวินัยที่สูงๆ ขึ้นไป
และแก้ไขความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องของพระภิกษุสามาเณรผู้เป็นศิษย์ได้
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่า
พระภิกษุผู้ที่ “พอจะเฝ้าวัดได้ตามลำพัง” จะต้องมีพรรษา ๕ กาลฝนขึ้นไป
นั่นคือ คุณสมบัติสมภารเจ้าวัดเบื้องต้นตามพระวินัยจะต้องมีพรรษา ๕ กาลฝนขึ้นไป
แต่ถ้าจะให้เหมาะสมแล้วก็ควรจะมีพรรษา ๑๐ กาลฝนขึ้นไป และต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ
สำหรับความเป็นพระผู้ใหญ่ที่เรียกกันว่า “คุณเครื่องความเป็นพระเถระ”
ตามพระวินัยอีกด้วย เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งเห็นจริงหรือประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักพระศาสนาดังนั้น
คุณสมบัติสมภารเจ้าวัดในสมัยต่อมาจึงอาจกำหนดได้ว่า จะต้องมีพรรษา ๕ กาลฝนขึ้นไป
ถ้าในกรณีที่มีพระภิกษุที่มีพรรษาเกินกว่า ๕
กาลฝนหลายรูปก็กำหนดให้พระภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดเป็นสมภารเจ้าวัด
ซึ่งคุณสมบัติตามนัยนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อมาถึงสมัยปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้กระจายไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลก
แม้ว่าหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาจะเป็น อกาลิกธรรม กล่าวคือเป็นธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาสำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติ
แต่ในส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักธรรม
ก็มีผู้อธิบายขยายความและประยุกต์ใช้ไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และท้องถิ่นนั้นๆ
และในส่วนขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีทางศาสนาก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน
เมื่อกล่าวถึง “วัด” ซึ่งเป็นศาสนสถานแล้วก็ต้องมี
“สมภารเจ้าวัด” ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลภายในวัด
คุณสมบัติเบื้องต้นก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและค่านิยมของท้องถิ่นและสังคมนั้นๆ
เช่น วัดในประเทศมาเลเซีย สมภารเจ้าวัดจะต้องเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย
หรือวัดในประเทศศรีลังกา สมภารเจ้าวัดจะต้องเป็นลูกหลานของตระกูลที่เป็นเจ้าของวัดนั้นๆ
(ฟังมาว่า บางครั้งตระกูลนั้นยังไม่มีลูกหลานที่บวชเป็นพระภิกษุ
มีเพียงสามเณรเท่านั้น ดังนั้น สามเณรก็กลายเป็นผู้ปกครองดูแลวัด หรือสมภารเจ้าวัด
นั่นเอง) เป็นต้น
เฉพาะประเทศไทย เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา
รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ
คือ ต้องนับถือพระพุทธศาสนา และมีกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนามากมาย
เฉพาะการปกครองคณะสงฆ์ก็มีกฎหมายรองรับอำนาจการปกครองของคณะสงฆ์เสมอมา
โดยขณะนี้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นหลักสำคัญ
ซึ่งในพระราชบัญญัตินี้ก็อนุญาตให้ออกกฎกระทวงและกฎมหาเถรสมาคม
(กฎกระทรวงมีฐานะเป็นกฎหมาย ส่วนกฎมหาเถรสมาคมมิใช่กฎหมาย
ผู้สนใจประเด็นนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยเฉพาะ) เฉพาะเรื่องเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดนั้น อำนาจและหน้าที่เจ้าอาวาสอยู่ในพระราชบัญญัติ
ส่วนคุณสมบัติและที่มาที่ไปอยู่ในกฎมหาเถรสมาคม ดังนั้น
เรามาดูว่ากฎหมายปัจจุบันได้กำหนดเรื่องสมภารเจ้าวัดไว้อย่างไรบ้าง
สมภารเจ้าวัดคือตำแหน่งเจ้าอาวาสจัดเป็น “พระสังฆาธิการ” หมายถึง
พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งมี ๖ ระดับชั้น คือ เจ้าคณะใหญ่
เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส
(บางตำแหน่งสามารถมีรองฯ หรือ ผู้ช่วยฯ ได้ตามความเหมาะสม)
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ในข้อ ๔
บอกว่า พระสังฆาธิการ หมายถึง พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์
ส่วนพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการได้นั้น ในข้อ ๖ ได้บอกไว้ว่า
จะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังต่อไปนี้
(๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
(๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
(๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
(๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
(๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน
ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน
หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจมาก่อน
(๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
(๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน
ก่อนที่จะกล่าวถึงคุณสมบัติเจ้าอาวาสตามกฎหมาย
มีข้อปลีกย่อยที่ควรทราบเกี่ยวกับการจัดประเภทวัดในประเทศไทยซึ่งมี ๒ ประเภท คือ
วัดราษฎร์ ได้แก่ วัดชาวบ้านทั่วๆ ไป
จะเป็นวัดขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม
พระอารามหลวง ได้แก่
วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาคือสร้างขึ้นเอง
วัดที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์คือฟื้นฟูหรือซ่อมแซ่มขึ้นมาภายหลัง
และวัดที่ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ให้เป็นพระอารามหลวง พระอารามหลวงเหล่านี้
มีรายระเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง เช่น แบ่งเป็นชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก. . .
จัดประเภทเป็นชนิดราชวรมหาวิหาร วรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรวิหาร สามัญ . . .
และยังกำหนดเป็นพระอารามหลวงในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ซึ่งคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะมาเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงเหล่านี้ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายประการ
ฉะนั้น ผู้เขียนจะขอละไว้ ไม่นำมากล่าวในที่นี้ ผู้สนใจเรื่องนี้ไปค้นหาเองเถิด
เฉพาะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ทั่วๆ ไป
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ระบุไว้ในข้อ ๒๖ ว่า
พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งดังนี้
(๑) มีพรรษาพ้น ๕ และ
(๒) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติเจ้าอาวาสตามนัยนี้
จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับพระธรรมวินัย นั่นคือ ข้อแรกการมีพรรษาได้ ๕
กาลฝนเป็นอย่างน้อย ประสงค์เอาพระภิกษุผู้พ้นจากการเป็นพระนวกะ
เป็นพระมัชฌิมะพ้นจากนิสัยกล่าวคือสามารถจะเฝ้าวัดอยู่ตามลำพังได้
ส่วนคุณสมสมบัติอื่นๆ ของพระมัชฌิมะนั้นได้รวมไว้ในข้อที่สอง กล่าวคือ
ได้รับการยอมรับนับถือจากบรรพชิตและคฤหัสถ์ในท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง
ประเด็นข้อที่สองนี้
ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็กน้อย กล่าวคือ ตามพระวินัยเดิมอนุญาตให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ประเมินค่าว่า
เมื่อพระนวกะรูปนั้นๆ ได้ล่วงเลยมา ๕ กาลฝนแล้ว
สมควรจะยกขึ้นเป็นพระมัชฌิมะหรือยัง ? โดยอาศัยคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์
แต่การแต่งตั้งเจ้าอาวาสจะใช้สังคมในท้องถิ่นนั้นๆ
รวมกันทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นผู้ประเมินค่าว่าพระภิกษุรูปนั้นๆ
มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งประเด็นนี้ทำให้มีปัญหาในเวลาต่อมา
นั่นคือ บางท่านบอกว่าสมควรเป็นได้เพราะมีความเหมาะสม ๑ ๒ ๓ ๔ ...
แต่บางคนก็แย้งว่ายังเป็นไม่ได้เพราะมีข้อบกพร่อง ๑ ๒ ๓ ๔ ... นั่นคือ
มีปัญหาถกเถียงกัน ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเคยได้ยินพระเถระผู้หนึ่งกล่าวไว้ในอดีตว่า
บรรดาตำแหน่งพระสังฆาธิการ เจ้าอาวาสตั้งยากที่สุดเพระอาศัยการยอมรับจากคนหลายๆ
ฝ่าย ดังนั้น ประเด็นนี้จึงมีการแก้ไขในเรื่องการตั้งสมภารเจ้าวัดในสมัยต่อมา
ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในหัวข้อต่อไป
.....
อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/67080
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น