วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด
และวิธีทำบัญชี
การรับและการเก็บรักษาเงินของวัดและการทำบัญชี เป็นงานการศาสนสมบัติของวัดงานหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความดูแลและจัดการของเจ้าอาวาส ในกฎกระทรวงข้อ ๕-๖ ได้ระบุไว้โดยชัดเจน จึงขอเรียนวิธีปฏิบัติเป็น ๓ วิธี คือ
๑. วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด
๒. วิธีทำบัญชีรับจ่าย
๓. วิธีทำบัญชีงบปีของวัด
วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด
ก. วิธีรับเงินของวัด การรับเงินผลประโยชน์ไม่ว่ากรณีใด ๆ วัดจะต้องออกใบเสร็จรับเงิน (ศบว.๗) แสดงการรับทุกครั้ง แล้วจึงนำยอดเงินตามใบเสร็จนั้นเข้าบัญชีรับและลงเลขที่ใบเสร็จไว้ในบัญชีรับอีกครั้ง แม้การรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเข้าบัญชีรับ ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน สำหรับอนุโมทนาบัตรจะมีหรือไม่ก็ได้
ส่วนการรับเงินการกุศล ควรออกอนุโมทนาบัตรแล้วลงบัญชีรับและอ้างเลขที่อนุโมทนาบัตรในบัญชีรับอีกครั้งหนึ่ง
ข. วิธีเก็บรักษาเงินของวัด วัดจะเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ของวัดเองได้เพียง ๓,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ให้นำฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ ธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทางปฏิบัตินั้น ควรฝากธนาคารโดยระบุชื่อบัญชีว่า “วัด......................” หรือว่า “เงินของวัด............................” อย่าฝากเป็นชื่อเจ้าอาวาสหรือใคร ๆ การเบิกเงินจากธนาคาร ควรกำหนดเงื่อนไขให้ลงนามร่วมกัน ๓ คน คือ เจ้าอาวาส ๑ ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ ๑ ผู้ที่เจ้าอาวาสเห็นควร ๑ จึงถอนได้ หรือเมื่อฝากลงนามร่วมกัน ๓ คน เมื่อจะถอนลงนาม ๒ ใน ๓ มีเจ้าอาวาสเป็นหลัก
ส่วนเงินการกุศล ให้เก็บรักษาตามความประสงค์ของผู้บริจาค ถ้าผู้บริจาคมิได้แจ้งความประสงค์ไว้ ควรอนุโลมตามการเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ของวัด
วิธีทำบัญชีรับจ่าย ให้เจ้าอาวาสมอบให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัด จัดทำบัญชีรับจ่ายประจำเดือน โดยใช้แบบกรมการศาสนา (ศบว.๕) ทุกเมื่อสิ้นเดือน ให้รวบรวมยอดรับจ่ายหักยอดคงเหลือและยอดยกไปเดือนต่อไป ผู้ทำบัญชีลงนามรับ รองแล้ว เสนอเจ้าอาวาสตรวจ และควรให้ตรวจทุกเดือน
วัดใหญ่ ๆ มีรายรับรายจ่ายมาก อาจมีบัญชีรับจ่ายหลายเล่มตามประเภทแห่งงาน หรืออาจใช้บัญชีรับจ่ายแบบทั่วไป เพื่อให้ความสะดวกในการจัดทำบัญชีก็ได้
วิธีทำบัญชีงบปี เจ้าอาวาสต้องตั้งให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัด จัด ทำบัญชีงบมีตามแบบ ศบว.๖ ตัดยอดวันที่ ๓๑ ธันวาคม โดยปฏิบัติดังนี้
(๑) แยกรายรับทั้งปีออกเป็นประเภท เช่น ยอดเงินยกมาจากปีเก่า,เงินค่าเช่า,เงินค่าบำรุง,เงินค่าดอกเบี้ย,เงินการกุศลต่าง ๆ และรายรับอื่น ๆ แต่ละประเภทเป็นเงินเท่าใดและรวมทุกประเภทเป็นเงินเท่าใด
(๒) แยกรายจ่ายทั้งปีออกเป็นประเภท เช่น ค่าก่อสร้างและบูรณะ,ค่า ตอบแทน,ค่าภาษี,ค่าน้ำปะปา-ไฟฟ้า-โทรศัพท์, ค่าคนงานวัด และรายจ่ายอื่น ๆ แต่ละ ประเภทเป็นเงินเท่าใด และรวมทุกประเภทเป็นเงินเท่าใด
(๓) เมื่อหักแล้ว คงเหลือเงินเท่าใด
(๔) เงินที่เหลือ เป็นเงินสดเท่าใด ฝากธนาคารไหน เท่าใด
เมื่อจัดลงรายการในบัญชีงบปีเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้จัดทำบัญชีลงนามรับรอง แล้วเสนอเจ้าอาวาสลงนาม และเก็บไว้ให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา :
http://www.watmoli.com/vittaya-2-chapter-6/section-9/part-5.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น