วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของกระบวนทัศน์

สินธุ์ สโรบล.“กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น จุดเปลี่ยนการพัฒนา.” กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่นจุดเปลี่ยนการพัฒนา. เชียงใหม่ : สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (2548). หน้า 32-41

ความหมายของกระบวนทัศน์
           ไอสไตน์ เคยกล่าวไว้ว่ามนุษย์จะอยู่รอดได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อให้พ้นไปจากสภาพวิกฤตที่เป็นอยู่ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องการจินตนาการใหม่ มีสำนึกใหม่รวมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม นั่นคือมนุษย์ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และแนวคิดจึงจะอยู่รอดเมื่อต้องการความเข้าใจว่ากระบวนทัศน์คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ก็ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจแนวคิดเอง Thomas Kuhn เมื่อปี ค.ศ. 1962 Kuhn ได้ฉายภาพเรื่องกระบวนทัศน์ไว้ในหนังสือ The Structure of Scientific Revolution ว่า กระบวนทัศน์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างสูงต่อความคิดของมนุษย์ เพราะกระบวนทัศน์เป็นวิถีและการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และวิธีการทั้งทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ กระบวนทัศน์ใหม่หรือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์มีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิด ความเชื่อ วิธีวิทยาของศาสตร์ต่าง ๆ ในช่วง ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา
           Fritjof  Capra เป็นอีกคนที่กล่าวถึงกระบวนทัศน์ในงานเขียนเรื่อง The Turning Point เมื่อปี ค.ศ. 1986 โดยนำเสนอว่ากระบวนทัศน์คือชุดแนวคิดหรือมโนทัศน์ (Concept) ค่านิยม (Value) ความเข้าใจรับรู้ (Perceptions) และการปฏิบัติ (Practice) ที่มีร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่ง และได้ก่อตัวเป็นแบบแผนของทัศนะเฉพาะแบบหนึ่งเกี่ยวกับ ความจริง (Reality) ซึ่งเป็นฐานของวิถี เพื่อการจัดการของตนเอง ของชุมชนนั้น

ไม่มีความคิดเห็น: